หวั่นเขื่อนเซเเปียน-เซน้ำน้อยเสี่ยงแตก เหตุยังไม่ได้รับการแก้ไขตามมาตรฐาน กว่า 3 ปี ผู้ประสบภัยยังลำบาก

ภาพเพิงพักชั่วคราวผุ้ประสบภัย (ภาพจาก Mekong Watch 2019)

13 มกราคม 2565 กลุ่มประชาสังคมนานาชาติประกอบด้วย Inclusive Development International, International Rivers, Mekong Watch และ NGOs Forum on ADB  ได้ส่งจดหมายถึงผู้บริหารบริษัทราชกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ลงทุน MKเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย เกี่ยวกับความคืบหน้าในการเยียวยาผู้ประสบภัยเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยแตก ซึ่งทางกลุ่มประชาสังคมได้เคยส่งคำร้องขอข้อมูลและการเจรจากับบริษัท เกี่ยวกับความกังวลจากโครงการไฟฟ้าน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เมื่อเดือนกันยายน 2562 และกรกฎาคม 2563 แต่ทางบริษัทไม่ได้ตอบกลับแต่อย่างใด

เนื้อหาในจดหมายระบุว่า ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เขื่อนดินย่อยส่วน D ของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยได้พังทลายลง และได้ปล่อยมวลน้ำมากถึงห้าพันล้านลูกบาศก์เมตรออกมา เนื่องจากไม่มีการแจ้งเตือนอย่างเพียงพอจากผู้พัฒนาโครงการเขื่อนและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากำลังมีความเสี่ยงของเขื่อนแตก ส่งผลให้ชุมชนในพื้นที่ 19 หมู่บ้านได้รับผลกระทบจากน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม และเศษซากปรักหักพัง ความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ส่งผลให้ประชาชนกว่า 7,000 คนในลาวต้องพลัดถิ่นฐาน และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 49 คน และสูญหาย 22 คนที่แขวงอัตตะปือ ถนน สะพาน รถยนต์ ระบบชลประทาน สัตว์เลี้ยงอีกหลายพันตัว และที่ดินเกษตรกรรมกว่าหมื่นไร่ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้เพื่อการเพาะปลูกได้ คาดว่ามีประชาชนประมาณ 15,000 คนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นลามไปถึงพรมแดนในประเทศกัมพูชา ตามลำน้ำเซกอง ชาวบ้านที่พลัดถิ่นฐานในลาวได้รับการจัดสรรที่อยู่ใหม่ในค่ายผู้อพยพฉุกเฉินโดยรัฐบาล 3 ปีผ่านไป ยังคงมีปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย สุขอนามัย และปัญหาสภาพที่อยู่อาศัยที่อันตราย ผู้ได้รับผลกระทบยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอ แม้รัฐบาลและบริษัทเซเปียนเซน้ำน้อยพาวเวอร์จำกัด(PNPC) จะให้คำสัญญาก็ตาม  ซึ่งรวมถึงแผนการฟื้นฟูเพื่อชดเชยต่อความสูญเสียชีวิต อาชีพ และทรัพย์สิน ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าได้มีการจ่ายค่าสินไหมตามวงเงินประกัน 50 ล้านเหรียญของโครงการอย่างไร และเหตุใดจึงไม่มีการนำเงินส่วนนี้มาใช้เพื่อฟื้นฟูชีวิตของประชากรผู้ได้รับผลกระทบ

นายเดวิด เพรด ตัวแทนขององค์กร Inclusive Development International กล่าวว่า เรายังได้ติดต่ออย่างใกล้ชิดกับนายริชารด์ มีฮาน(Richard Meehan)  ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของเขื่อนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ สอบสวนอย่างละเอียดถึงความปลอดภัยของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยทั้งในดีตและปัจจุบัน    เขากล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีการสร้างเขื่อนใหม่เพื่อทดแทนเขื่อนดินย่อยส่วน “D” จนสมบูรณ์แล้ว และแม้จะมีการเพิ่มระดับความสูงของทางน้ำออกเพื่อความปลอดภัย แต่เขื่อนดินย่อยส่วน “E” และ “F” ซึ่งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน และเริ่มพังทลายตั้งแต่ปี 2561 จนกระทั่งระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำจากเขื่อนดินย่อยส่วน “D” ที่พังทลายลง ได้ลดแรงกดดันจากน้ำลง แต่เขื่อนทั้งสองแห่งเท่าที่สามารถระบุได้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสอดคล้องตามมาตรฐานระหว่างประเทศใด ๆ หรือไม่ได้มีการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะเร่งด่วนของทีมที่ปรึกษาระหว่างประเทศของบริษัทผู้พัฒนาเขื่อนเอง ซึ่งตามความเห็นของนายมีฮาน ในเดือนพฤศจิกายน 2564  ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำได้เพิ่มสูงถึงขีดสุดนับแต่กรณีเขื่อนแตกและเขื่อนดินย่อยส่วน “E” และ “F” ยังมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะพังทลาย

ขณะเดียวกันมีสื่อท้องถิ่นรายงานเมื่อธันวาคม 2564 ว่า การสร้างบ้านหลังใหม่ให้กับผู้ประสบภัยจากเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยนั้นมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย และไม่เสร็จตามเป้าหมาย 700 กว่าหลังคาเรือน เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน และมีบริษัทวันเซ็ง (Vanseng Company) เพียงบริษัทเดียวที่ได้รับการสัมปทานในการก่อสร้างเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 มูลค่ากว่า 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ  เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เมืองสนามไซรายหนึ่ง ระบุว่า ควรจะมีอย่างน้อย 3 บริษัท ในการก่อสร้างบ้านใหม่ให้ชาวบ้าน หากต้องการให้เสร็จตามเวลาจริง ๆ  และคาดกว่าการสร้างบ้านเรือนของชาวบ้านอาจจะเสร็จในปี 2565-2566   ปัจจุบันผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว

หญิงผู้ประสบภัยรายหนึ่งกล่าวว่า “ฉันยังไม่ได้ย้ายเข้าไปบ้านหลังใหม่ เพราะยังสร้างไม่เสร็จ บ้านบางหลังพึ่งทำพื้นเสร็จ เมื่อ 4 เดือนที่แล้วเห็นคนงานมาก่อสร้างเยอะมาก แต่พอเกิดการระบาด คนงานก็หายไปหมด เหลือเพียงไม่กี่คน ทำให้งานการก่อสร้างไม่คืบหน้า ตอนนี้พวกเรากำลังเจอปัญหาการขาดแคลนน้ำในที่พักพิงชั่วคราว”

อนึ่งเขื่อนเซเปียน เซน้อย กำลังการผลิต 340 เมกะวัตต์ โดย 90 %  ของไฟฟ้าส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัทเซเปียนเซน้ำน้อยพาวเอร์จำกัด ร่วมทุนบริษัทเกาหลีใต้ ไทย และลาว คือ บริษัทเอสเคอีแอนด์ซี จำกัด (SK Engineering and Construction) Korea Western Power จำกัด บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัดมหาชน (RATCH) บริษัทรัฐวิสาหกิจลาว Lao Holding State Enterprise (LHSE) โดยได้รับเงินกู้จำนวน 2,300 ล้านบาท จาก 4 ธนาคารพานิชย์ของไทยคือ ที่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารธนชาต, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้า (EXIM Bank)

More to explorer