แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ไม่เข้าร่วมกระบวนการปรึกษาหารือ PNPCA โครงการเขื่อนปากลาย

13 ธันวาคม 2561

ตามที่มีข้อมูลปรากฎว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ได้ยื่นเอกสารอย่างเป็นทางการ กรณีโครงการเขื่อนปากลาย ต่อสำนักงานเลขาธิการ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อให้มีการจัดกระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง” (Procedures for Notification, Prior Consultation, and Agreement) หรือ “PNPCA” ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 โดยในประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ

ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขง ประเทศไทย ได้เริ่มจัดเวทีปรึกษาหารือล่วงหน้า กรณีเขื่อนปากลาย ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และครั้งที่ 2 วันที่ 14 ธันวาคม 2561 นี้ ที่จังหวัดบึงกาฬนั้น

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง พบข้อมูลว่า โครงการเขื่อนปากลาย เป็นเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งอาจจะก่อสร้างเป็นแห่งที่ 4 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัทพาวเวอร์ไชน่า รีซอส จำกัด และจะสนับสนุนทางการเงินโดย Chinese Investment Bank ของจีน โดยโครงการเขื่อนตั้งอยู่เหนือเมืองปากลาย ประมาณ 30 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเชียงคาน จ.เลย ประมาณ 92 กิโลเมตร เขื่อนจะพาดขวางลำน้ำโขง มีความยาว 942 เมตร ระดับสันเขื่อนสูง 51 เมตร ปริมาณเก็บกักน้ำในเขื่อน 890 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับน้ำ 278,400 ตารางกิโลเมตร มีช่องประตูระบายน้ำ 11 ช่อง จำนวนเครื่องผลิตไฟฟ้า 14 เครื่องคาดว่าไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าวจะส่งมาขายให้แก่ประเทศไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ขอประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมเวทีปรึกษาหารือล่วงหน้า (หรือเวที PNPCA) กรณีเขื่อนปากลาย ดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า กระบวนการนี้ถือเป็นกระบวนการรับรองให้เกิดการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักอย่างถูกต้อง ที่ผ่านมาเกือบสิบปี พวกเราเครือข่ายภาคประชาชน ได้เข้าร่วมกระบวนการ PNPCA ของโครงการเขื่อนไซยะบุรี โครงการเขื่อนดอนสะโฮง และโครงการเขื่อนปากแบง แต่กลับพบว่าเจ้าของโครงการไม่เคยรับฟังเสียงทักท้วง หรือข้อกังวลของภาคประชาชนเลย มีแต่จะเดินหน้าโครงการโดยไม่ตอบคำถามใดๆ ประชาชน

จุดยืนนี้ เป็นไปในทางเดียวกันกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาทิ Save the Mekong, เครือข่ายแม่น้ำเวียดนาม Vietnam Rivers Network, และ เครือข่ายแม่น้ำกัมพูชา Rivers Coalition of Cambodia ที่ได้แสดงจุดยืนเช่นเดียวกัน

กรณีโครงการเขื่อนปากลาย พวกเราพบว่า รายงานเอกสารการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ของโครงการ ไม่มีความน่าเชื่อถือและไร้มาตรฐานทางวิชาการ ไม่เพียงพอต่อกระบวนการตัดสินใจในระดับภูมิภาค ข้อมูลหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นการคัดลอกมาจากรายงานการประเมินผล TBESIA/CIA ของเขื่อนปากแบง ที่มีการเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2558 ส่งผลให้รายงานการประเมินผลเขื่อนปากลายมีข้อบกพร่องและมีข้อมูลที่ไม่ทันสมัย โดยข้อมูลและแหล่งอ้างอิงส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนปี 2554 และไม่ครอบคลุมถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งมีพรมแดนอยู่ห่างจากเขื่อนไม่ถึง 100 กิโลเมตร ในขณะที่พวกเราประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้รับผลกระทบจากการเปิดปิดเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีนมาร่วม 20 ปี แล้ว และพวกเราตระหนักดีว่า เขื่อนปากลาย จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลกระทบหนักต่อวิถีชีวิตด้านการประมง เกษตรริมฝั่งโขงและระบบนิเวศของแม่น้ำโขงทั้งสายประธาน

ดังนั้นพวกเราจึงขอยืนยันที่จะไม่เข้าร่วมเวทีฯ กรณีโครงการเขื่อนปากลาย ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการ PNPCA ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเป็นเพียงพิธีกรรมการจัดเวที ให้เสร็จสิ้นไปตามกระบวนการเท่านั้น

ลงชื่อ
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

More to explorer

จดหมายเรียกร้องธนาคารผู้ให้สินเชื่อเขื่อนไซยะบุรี ติดตามบริษัทให้เปิดเผยความคืบหน้ารายงานมาตรการลดผลกระทบด้านการประมง การฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจของผู้อพยพโยกย้ายและแผนบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากการบริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรี

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดยื่นจดหมายถึง รมว.พลังงาน-ร้องทบทวนการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในแผนพีดีพี 2024 ชี้เพิ่มภาระต้นทุนค่าไฟ ย้ำปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง