จดหมายจากเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่อง สอบถามถึงแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง บนแม่น้ำโขง และขอให้ทบทวนพิจารณาระงับการซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง 

260 ม.1 ต.เวียง อ.เชียงของ 

จ.เชียงราย 57140

16 กรกฎาคม  2563

เรื่อง        สอบถามถึงแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง บนแม่น้ำโขง

และขอให้ทบทวนพิจารณาระงับการซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง 

เรียน        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ปลัดกระทรวงพลังงาน (ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศ กับประเทศเพื่อนบ้าน) 

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 

เนื่องจากขณะนี้มีการผลักดันการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง เป็นโครงการเขื่อนแห่งที่ 5 ที่เสนอเพื่อก่อสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยมีการประกาศครบวาระของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 (1995 Mekong Agreement) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มีประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ในฐานะประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง และมีเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)  ได้เผชิญปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากใช้งานเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งแรก ที่ได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้า นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 โดยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน  นับตั้งแต่มีการประกาศการทดลองผลิตไฟฟ้าในเดือนกรกฎาคม 2562 และผลกระทบยิ่งรุนแรงสาหัสมากยิ่งขึ้นหลังมีการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา ทั้งปรากฎการณ์ระดับน้ำโขงผันผวน พันธุ์ปลาธรรมชาติอพยพผิดฤดูกาล ปรากฎการณ์น้ำโขงสีคราม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์ ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในหลายจังหวัดของประเทศไทย รวมถึงตึกสูงในเขตกรุงเทพมหานคร  และยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดผลกระทบด้านใดตามมาอีก เนื่องจากไม่มีการศึกษาผลกระทบที่รอบด้านเพียงพอ

จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีมาตรการแก้ไขและบรรเทาปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน ที่มีผลต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขงท้ายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรีในเขตประเทศไทยโดยเจ้าของโครงการ และที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ฟ้องศาลปกครอง กรณีเขื่อนไซยะบุรี และโครงการเขื่อนปากแบง เพื่อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนทั้งสองแห่ง และเรียกร้องให้มีการจัดทำผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไซยะบุรีขึ้นใหม่ และขอให้ชะลอการซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง และคดีทั้งสองยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครอง  แต่ในขณะเดียวกันกลับมีแผนการผลักดันสร้างเขื่อนหลวงพระบางอย่างเร่งด่วนขึ้นมาอีกโครงการหนึ่ง 

พวกเราจึงมีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อปัญหาดังกล่าว จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่าน ในฐานะตัวแทนของหน่วยงานรัฐไทยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 

1.    ขอให้ท่านชี้แจงเกี่ยวกับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเป้าหมายตลาดรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าวที่ชัดเจน และหากมีแผนจะรับซื้อ ทางเครือข่ายฯ ขอให้ท่านจัดส่งเอกสารทั้งหมดเกี่ยวกับสัญญา/ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างละเอียดและชัดเจนให้แก่เครือข่าย 

2.    ขอให้ท่านพิจารณาระงับการทำสัญญา/ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก ด้วยเหตุผลดังนี้ 

         2.1 สืบเนื่องจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (2561-2580) หรือ PDP 2018 ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 จากข้อมูลดังกล่าว ในกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ช่วงปี 2561-2580 จำนวน 56,431 เมกะวัตต์ นั้น ในแผนระบุว่า จะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ จำนวน 5,857 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะจากสปป.ลาว เข้ามายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศจำนวน 5,857 เมกะวัตต์ จากประเทศเพื่อนบ้าน ดังกล่าว จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงสายหลัก เช่น โครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนสานะคาม และเขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำสาขา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อประชาชนทั้งในเขตประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่กรณีเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย ที่เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เกิดสันเขื่อน D แตก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิตของประชาชนในสปป.ลาว มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 47 คน สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนพังเสียหาย และพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบจนไม่สามารถกลับอยู่ในที่เดิมได้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ได้รับการเยียวยาและทำให้กลับสู่สภาพเดิม ซึ่งผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั้งต่อประชาชนไทยริมฝั่งแม่น้ำโขง และประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ภาคเอกชนผู้รับผิดชอบโครงการยังไม่มีแผนการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่ชัดเจน และกลายเป็นภาระของหน่วยงานภาครัฐของไทยที่ต้องใช้งบประมาณของประเทศไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  และแม้จะมีการกล่าวว่า พลังงานน้ำมีต้นทุนที่ต่ำกว่าแหล่งพลังงานอื่น แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ต้นทุนที่แท้จริงและภาระที่ต้องจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมไม่ได้ถูกคิดรวมในต้นทุนการผลิตดังกล่าวด้วย ประกอบกับความเสี่ยงต่อความคุ้มค่าของการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศที่สุดขั้วในปัจจุบันและอนาคต เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนต่าง ๆ อาจจะทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามกำลังการผลิต เนื่องจากต้องเผชิญทั้งความแห้งแล้งและภาวะน้ำท่วม ปัจจัยความเสี่ยงนี้มีผลมากขึ้นทุกปีและอาจจะส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณของภาครัฐและค่าไฟฟ้าของภาคประชาชนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงเหล่านี้มากขึ้น 

2.2 ปรากฎการณ์สถานการณ์ความต้องการพลังงานที่ลดลงช่วงโรคระบาด COVID-19 ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมถึงปัจจุบัน ที่ทำให้ความต้องการการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยลดลงอย่างมาก จากมาตราการล็อกดาวน์ของภาครัฐและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยมีสูงมากเกินกว่า 65 %  ขณะที่ค่าไฟกลับแพงขึ้น จนเป็นประเด็นวิพากษณ์วิจารณ์ทางสังคม โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ การซื้อขายไฟฟ้าด้วยสัญญาที่มีเงื่อนไข Take or Pay หรือค่าความพร้อมจ่าย ตลอดสัญญาระยะยาว 25-30 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นต่อไปในอนาคต 

ด้วยปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทางเครือข่ายฯ ขอให้ท่านได้พิจารณาทบทวนข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศและแผนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อประชาชนในพื้นที่และผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนไทย รวมถึงภาระของคนไทยในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้าหลัก

3.     เครือข่ายฯ ทราบดีว่า กระทรวงพลังงาน มีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานสำรองเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบันปริมาณพลังสำรองของประเทศมีปริมาณสูงเกินกว่า 15 % ตามมาตรฐานสากล หากมีการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมาเพิ่ม ยิ่งจะทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยไม่ใช่เหตุจำเป็น  และเห็นว่า กระทรวงพลังงานได้กำลังพยายามจัดหาแหล่งพลังงานพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน  เช่น แสงแดด ลม การทำโซล่าร์ลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำเดิม โครงการพลังงานชุมชน มาตรการประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) ฯลฯ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่มีการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่สูง นำไปสู่การ สร้างงาน พัฒนาเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ ที่ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างสั้นกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่  พวกเราเห็นความพยายามของกระทรวงพลังงาน ที่พยายามจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานโซล่า และการผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนภายในประเทศ  เป็นทิศทางที่น่าส่งเสริมมากกว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ จึงขอให้ท่านได้พิจารณาถึงการใช้ทางเลือกในการบริหารจัดการและผลิตพลังงานที่ไม่ก่อผลกระทบอย่างกว้างขวางดังเช่นการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง

ท้ายสุดนี้ พวกเราขอย้ำอีกครั้งว่า พลังงานไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ไม่มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของพลังงานประเทศไทย แต่หากโครงการเดินหน้า กลับจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของโลก ดังนั้น การทบทวน และชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเขื่อนในแม่น้ำโขงจึงน่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จึงขอเรียนมาเพื่อชี้แจงข้อกังวลและเหตุผลดังกล่าว และขอทราบข้อมูลข้างต้นเกี่ยวกับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบางและท่าทีของกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อโครงการนี้ โดยขอให้ท่านตอบกลับเป็นเอกสารกลับมาภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่ได้รับจดหมายฉบับนี้ 

จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณาดำเนินการ หวังว่าจะได้รับความกรุณาจากท่านด้วยดี 

ขอแสดงความนับถือ

                     นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว 

    เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง 

More to explorer

จดหมายเรียกร้องธนาคารผู้ให้สินเชื่อเขื่อนไซยะบุรี ติดตามบริษัทให้เปิดเผยความคืบหน้ารายงานมาตรการลดผลกระทบด้านการประมง การฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจของผู้อพยพโยกย้ายและแผนบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากการบริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรี

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดยื่นจดหมายถึง รมว.พลังงาน-ร้องทบทวนการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในแผนพีดีพี 2024 ชี้เพิ่มภาระต้นทุนค่าไฟ ย้ำปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง