ยุติแผนระเบิดแม่น้ำโขง Halt the Mekong Blast Plan


บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ วันที่ 2 ตุลาคม 2560

จีนต้องการความช่วยเหลือจากประเทศไทย และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนได้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งพูดจาตรงไปตรงมา มาล็อบบี้ในเรื่องนี้ รัฐบาลจีนอยู่ระหว่าง “การพัฒนา” แม่น้ำโขงในหลายด้าน โดยโครงการที่ดำเนินการอยู่โครงการหนึ่งคือ การขุดลอกแม่น้ำ (หรือ “ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง”) เพื่อให้เรือบรรทุกสินค้าที่กว้างถึง 100 เมตรสามารถเดินทางล่องแม่น้ำโขงได้เป็นระยะทางเกือบ 700 กิโลเมตรจากจีนตอนใต้ ที่มณฑลยูนนาน ลงมาถึงเมืองหลวงพระบาง ในลาว เพื่อส่งเสริมการค้า แต่ปัจจุบันเรือขนาดใหญ่ยังไม่สามารถแล่นผ่านแม่น้ำโขงได้หลายจุด

จีนจึงร้องขอให้มีการอนุญาต “เปิด” เส้นทางแม่น้ำโขง ในบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ที่อำเภอเชียงของ เชียงราย โดยรัฐบาลจีนได้ให้สัมปทานการดำเนินงานนี้กับบริษัท China Communications Construction Company Second Harbour Consultants ที่ดำเนินงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตั้งชื่อได้อย่างสวยสดงดงาม ประธานบริษัทแห่งนี้ชื่อ หลิงลีฮัว (Ling Leehua) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการศึกษางานโครงการนี้ เขาได้มาปรากฏตัวในที่ประชุมรับฟังความเห็นเมื่อวันพุธ ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงของ เพื่อขอความสนับสนุนให้กับโครงการนี้

ไทยนับเป็นประเทศแรกที่บริษัท CCCC Second Harbour นายหลิงและรัฐบาลจีน ต้องเผชิญกับแรงต่อต้าน เพราะในพม่าและลาว เมื่อนายหลิงแสดงความประสงค์ที่จะระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เพื่อเปิดช่องทางน้ำ รัฐบาลต่างให้ความร่วมมือ และประชาชน (พม่าและลาว) ถูกห้ามไม่ให้แสดงความเห็นคัดค้าน แต่ในเวทีที่อำเภอเชียงของ มีเสียงต้านอย่างหนักต่อการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

รัฐบาลทหารไทยลอยตัวเหนือปัญหา แต่เผือกร้อนกำลังจะมาถึง เพราะใกล้ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องตัดสินใจเลือกเอาข้างใดข้างหนึ่ง แรงกดดันทางการทูตจากจีนเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ กดกดันแรงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะในความเห็นของพวกเขา แม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของมีเพียงเกาะแก่งเพียงเล็กน้อยที่ขวางกั้นเรือสินค้าขนาดใหญ่ ทำให้เรือไม่สามารถแล่นผ่านแม่น้ำโขงในช่วงนี้ได้ แต่ความรู้สึกต่อต้านแผนการของรัฐบาลจีนครั้งนี้รุนแรงมาก

กลุ่มคัดค้าน (โครงการ “ระเบิดแก่ง” ) กลุ่มหลักในขณะนี้คือ กลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งมีสมาชิกเพียงไม่กี่สิบคน แต่มีเป้าหมายร่วมกันที่เรียบง่ายและเข้าใจได้ แม่น้ำโขง บริเวณพรมแดนไทบย-ลาว บริเวณอำเภอเชียงของ ประกอบด้วยเกาะแก่งใหญ่น้อยมากมายที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ และมีคุณค่าที่สำคัญกว่างามมากมายนัก น้ำโขงที่ตื้นในช่วงนี้เหมาะแก่การทำประมงและการปลูกพืชผักริมฝั่งโขง เป้นปัจจัยในการดำรงชีพของชาวไทยและลาวหลายแสนคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านขนาดเล็กตลอดริมสองฝั่งน้ำ

นายหลิง อาจคิดว่าตัวเองพูดจามีเหตุผลและน่าเชื่อถือ เมื่อเขาประกาศในที่ประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า บริษัทของเขาต้องการระเบิดเกาะแก่ง “แค่ไม่กี่แห่ง” เขาบอกว่าการระเบิดเพื่อเปิดทางน้ำครั้งนี้ จะไม่ทำให้ภูมิศาสตร์ “บางส่วน” ของพื้นที่แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป แต่ในความเป็นจริง การระเบิดแม่น้ำโขงที่เชียงของจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาล และสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปและไม่มีทางเหมือนเดิมอีกเลย ทั้งยังมีความเห็นร่วมกันว่า จะทำให้เกิดผลกระทบด้านลบอย่างสิ้นเชิงต่อคนในพื้นที่

ในเชิงภูมิศาสตร์ การระเบิดเกาะแก่งขนาดเล็กแค่บางส่วน ก็จะทำให้เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นคุณต่อประเทศลาว แค่ประเด็นนี้ก็น่าจะทำให้เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมากสุดสำหรับรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้ว และในระหว่างที่ทีมสำรวจของจีนไปที่อำเภอเชียงของ เพื่อนำเสนอโครงการ มีเพียงรัฐบาลไทยเท่านั้นที่จะบอกว่า “อนุญาต” หรือไม่ เพื่อให้นายหลิงและทีมงานระเบิดแก่งของเขาเดินหน้าต่อไปได้

หากจีนต้องการคำตอบนี้ในทันที ก็ควรต้องเป็นคำตอบว่า “ไม่”

ไม่เป็นที่สงสัยเลยเกี่ยวกับเป้าหมายของรัฐบาลจีน ที่ต้องการเปลี่ยนแม่น้ำโขงให้กลายเป็นที่ก่อสร้างเขื่อนหลายโครงการ เปลี่ยนแม่น้ำให้เป็นทะเลสาบและคลอง เพื่อให้เรือใหญ่สามารถแล่นจากมณฑลยูนนาน ล่องลงไปยังทะเลจีนใต้ ผ่านพม่า ลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนาม

ชัดเจนว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร

เช่นเดียวกับต้นทุน/ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นประชาชน ในปัจจุบัน ภาระที่เกิดกับชาวบ้านนั้นหนักหนากว่าผลกำไรทางการค้า กล่าวคือ การที่เรือขนาดใหญ่สามารถแล่นลงมาจากยูนนาน ล่องลงมายังหลวงพระบาง ผ่านอำเภอเชียงของได้

เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้เลยที่เราจะทำลายรากเหง้าของวิถีชีวิต และทำลายสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่า

เพื่อประโยชน์ทางการค้าที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

แปลและเรียบเรียงจากบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ วันที่ 2 ตุลาคม 2560 Halt Mekong blast plan
https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1334863/halt-mekong-blast-plan.

More to explorer

จดหมายเรียกร้องธนาคารผู้ให้สินเชื่อเขื่อนไซยะบุรี ติดตามบริษัทให้เปิดเผยความคืบหน้ารายงานมาตรการลดผลกระทบด้านการประมง การฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจของผู้อพยพโยกย้ายและแผนบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากการบริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรี

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดยื่นจดหมายถึง รมว.พลังงาน-ร้องทบทวนการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในแผนพีดีพี 2024 ชี้เพิ่มภาระต้นทุนค่าไฟ ย้ำปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง