เชิญทำข่าว และให้กำลังใจชาวแม่น้ำโขง-กลุ่มรักษ์เชียงของ ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำสั่ง กรณีคดีเขื่อนปากแบง (Pak Beng dam lawsuit at Thai ADministrative Court) บนแม่น้ำโขงสายประธาน แขวงอุดมไซ สปป.ลาว

เชิญทำข่าว และให้กำลังใจชาวแม่น้ำโขง-กลุ่มรักษ์เชียงของ ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำสั่ง กรณีคดีเขื่อนปากแบง ( Pak Beng dam lawsuit at Thai Administrative Court) บนแม่น้ำโขงสายประธาน แขวงอุดมไซ สปป.ลาว วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 9.30 น. ณ ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ

นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน แจ้งต่อกลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ว่าได้รับหมายจากศาลปกครองสูงสุด นัดฟังเรื่องคำสั่งรับฟ้องวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 

โครงการเขื่อนปากแบง Pak Beng dam project ถูกระบุว่า เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (Run Off River) มีแผนจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน ในเขตเมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว หัวงานเขื่อนตั้งอยู่บริเวณดอนเทด ห่างจากเมืองปากแบงขึ้นไปประมาณ 14 กิโลเมตร ห่างจากชายแดนไทยบริเวณ แก่งผาได ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประมาณ 97 กิโลเมตร และห่างจากเมืองหลวงพระบางประมาณ 100 กิโลเมตร กำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ และมีแผนจะไฟฟ้าขายให้แก่ กฟผ. ประมาณ 90 %

ผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัทไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมนต์ จำกัด (China Datang Oversea Investment Co.,Ltd (CDTO) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีน

โครงการเขื่อนปากแบง ได้เข้าสู่กระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และครบระยะเวลา 6 เดือน วันที่ 19 มิถุนายน 2560 ขณะนั้นกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลใน 3 จังหวัด รวม 4 ครั้งคือ จังหวัดเชียงราย 2 ครั้ง จังหวัดหนองคาย 1 ครั้ง จังหวัดอุบลราชธานี 1 ครั้ง

ประเด็นที่ชาวบ้านกังวลหนักคือ ผลกระทบจากภาวะ “น้ำเท้อ” จากท้ายอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ในเขตชายแดนไทยบริเวณ อ.เวียงแก่น เชียงของ เชียงแสน และผลกระทบต่อลุ่มน้ำสาขาคือ น้ำงาว และน้ำอิง ซึ่งในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน นอกจากนี้ยังมีข้อกังลเรื่องผลกระทบสะสมจากเขื่อนจิงหง หนึ่งใน 11 เขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนของจีน ที่สร้างผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขง ส่งผลต่อระบบนิเวศ การอพยพของปลา ปริมาณตะกอน การเกษตร ประมงพื้นบ้าน รายได้ของชุมชน และตลิ่งพัง

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของจำนวน 4 คนและตัวแทนเครือข่าย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยผู้ถูกฟ้องคือ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยขอให้ศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าปากแบง และความเห็นต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เนื่องจากการจัดกระบวนการับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาไม่ครอบคลุมและละเลยดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การแปลเอกสารเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับโครงการทั้งหมด และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่รัฐบาลลาวจะดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง หรือก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอันเป็นล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องกรณีของเขื่อนปากแบง และทางกลุ่มรักษ์เชียงของก็ได้มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 โดยจะมีการอ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ในวันพรุ่งนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564)

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากผู้พัฒนาโครงการ คือ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 นายจันสะแหวง บุนนอง อธิบดีกรมนโยบายและแผน กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ พร้อมกับตัวแทนบริษัทไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมนต์ ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง ร่วมประชุมกับตัวแทนเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในประเด็นข้อกังวลต่อผลกระทบข้ามพรมแดนกรณีน้ำเท้อจากท้ายอ่างเก็บน้ำและผลกระทบต่อระดับน้ำและที่ดินทำกินของชาวบ้านป่าพื้นที่ชุ่มน้ำในแม่น้ำสาขา เช่น แม่น้ำอิง แม่น้ำงาว และผลกระทบการอพยพของปลาแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ผลกระทบต่อเกษตรริมฝั่งโขงและระบบนิเวศแก่งต่าง ๆ โดยทางภาคประชาชนเสนอให้มีการทบทวนการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และต่อมามีการประชุมร่วมกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อหาแนวทางการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนดังกล่าว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องกระบวนการศึกษาร่วมกับรัฐบาลลาวและทางบริษัทจีน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือตอบกลุ่มรักษ์เชียงของ กรณีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ว่ากฟผ. ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง เนื่องจากอยู่ในกระบวนการทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี 2018 (PDP2018) และต้องรอความชัดเจนจากแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ก่อน ต่อมา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 มีรายงานข่าวว่า รัฐบาลลาวได้ระงับโครงการเขื่อนปากแบงและเขื่อนปากลายไว้ก่อน เนื่องจากต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดนให้ละเอียดครบถ้วนก่อน

สถานะปัจจุบันโครงการเขื่อนปากแบง จึงยังไม่มีการลงมือก่อสร้าง

ข้อมูลเพิ่มเติม www.mymekong.org

More to explorer

จดหมายเรียกร้องธนาคารผู้ให้สินเชื่อเขื่อนไซยะบุรี ติดตามบริษัทให้เปิดเผยความคืบหน้ารายงานมาตรการลดผลกระทบด้านการประมง การฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจของผู้อพยพโยกย้ายและแผนบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากการบริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรี

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดยื่นจดหมายถึง รมว.พลังงาน-ร้องทบทวนการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในแผนพีดีพี 2024 ชี้เพิ่มภาระต้นทุนค่าไฟ ย้ำปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง