โศกนาฏกรรมนกแม่น้ำโขงสิ้นพื้นที่เพาะพันธุ์-น้ำท่วมไข่-ลูกเล็กจมหาย “The Mekong Butterfly”เก็บข้อมูลสำรวจพบผลกระทบจากเขื่อนจีนปล่อยน้ำผิดฤดูกาลทำลายระบบนิเวศ ขณะที่ MRC ฉลอง 30 ปีข้อตกลงแม่น้ำโขง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ Hope Space วงเวียนใหญ่ กทม.กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) ได้จัดวงเสวนา “เขื่อน | รวน | โขง” เมื่อน้ำท่วมในหน้าแล้งกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีวิทยากรได้แก่มนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง พรพิมล จันหอม ตัวแทนชุมชนบ้านคกเว้า อ.ปากชม จ.เลย ปิยนันท์ จิตต์แจ้ง ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี โดยมีชนาง อาภารักษ์ ดำเนินรายการ และมีการถ่ายทอดสดเฟคบุคไลฟ์

มนตรี จันทวงศ์ กล่าวว่าตั้งแต่ช่วงปี 2553 มีการพูดถึงประเด็นแม่น้ำโขงเหือดแห้งผิดปกติ ตอนนั้นมีตัวแทนจากสถานทูตจีนออกมายอมรับว่าเหตุเป็นเพราะการทดลองกักเก็บน้ำของเขื่อนต้าเฉาซาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจึงพบว่าเขื่อนจิ่งหงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจากต้นน้ำ


.
มนตรีกล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2568 ทีมงานได้พื้นที่สำรวจผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหงในช่วงกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน พบว่าการระบายน้ำของเขื่อนตอนบนในจีนในช่วงหน้าแล้งส่งผลกระทบอย่างมากต่อถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งวางไข่ของนกแม่น้ำโขงหลายชนิด ในฤดูแล้งปีนี้เห็นผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาจไม่ได้รับความสนใจ การสำรวจหาดทรายที่บ้านโคกสามท่า 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบรังของนกแอ่นทุ่งเล็ก 4 รัง เมื่อทีมสำรวจเข้าไปใกล้ๆ นกก็ไม่หนีไปไหนเพราะพ่อแม่นกเฝ้ารัง แต่เมื่อมีการระบายน้ำจากเขื่อนจีน การลงสำรวจอีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคม พบว่าไข่นกทั้งหมดต้องจมน้ำ มีแม่นกยืนงงๆ อยู่บนดอน ซึ่งน้ำก็ไม่ลดระดับลง ความหวังที่ว่าแม่นกที่เหลือจะวางไข่ได้ก็ไม่มี ต่อมาสำรวจในวันที่ 22 มีนาคมน้ำโขงก็ยังคงท่วม

เช่นกันที่ จ.อุบลราชธานี แก่งกะอาก บ.ปากลา อ.โขงเจียม การสำรวจในวันที่19 กุมภาพันธ์ พบว่ามีไข่นก ต่อมาพบว่าลูกนกเกิดแล้วในการสำรวจ 23 มีนาคม และจากนั้นเมื่อน้ำสูงขึ้นลูกนกก็ต้องจมไปทั้งหมด ลูกนกก็ไม่มีที่ให้หนีอีกแล้ว

“เราพบว่ามีพื้นที่เหลือน้อยลงเรื่อยๆ สำหรับนกที่จะวางไข่ตามดอนแม่น้ำโขง ที่เศร้ามาคือเราพบไข่นกลอยน้ำมา เมื่อน้ำโขงเพิ่มระดับสูงขึ้น พื้นที่หากินของนกก็ลดลง ปริมาณนกก็ลดลงด้วย มีผลกระทบรุนแรง” มนตรีกล่าว และว่าในฤดูแล้งปีนี้พบว่าการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหงของจีน อยู่ที่ 1,700 ลูกบาศก์เมตร (ลบม.)/วินาที จากนั้นมีการลดการระบายน้ำลงบางช่วง เกิดหาดทราย นกก็เริ่มจับคู่ แต่อีกไม่นานต่อมาก็เพิ่มการระบายน้ำเป็น 2,460 ลบม./วินาที น้ำก็ท่วมหาดทรายดอนทรายอีก

“น้ำโขงที่ผันผวน ขึ้นๆ ลงๆ จากเขื่อนจีน ไม่ใช่เพียงส่งผลให้วิถีชีวิตชุมชนเสียหายเท่านั้น แต่ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้รับผลกระทบด้วย เป็นวิกฤตที่ธรรมชาติและคนริมโขงเผชิญบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น”มนตรี กล่าว

ปิยะนันท์ จิตต์แจ้ง กล่าวว่าเชียงรายได้รับผลกระทบจากเขื่อนแม่น้ำโขงทั้งตอนบนในจีนและเขื่อนตอนล่างในลาว และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคตหากมีการสร้างเขื่อนปากแบง ตอนนี้น้ำโขงเหมือนน้ำทะเล น้ำขึ้นลงรายวัน จากการปล่อยและกักเก็บน้ำของจีน นี่คือความรวน บางทีหน้าแล้งก็แล้งผิดปกติ ส่วนหน้าฝนก็จะมีการระบายน้ำตามอำเภอใจทำให้น้ำเข้าไปถึงในพื้นที่ชั้นใน และรวนไปถึงระดับฤดูกาลคือท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน ทำให้ปลาไม่ขึ้นมาวางไข่ในหน้าฝน บางทีหน้าแล้งระดับน้ำโขงกลับสูงกว่าหน้าฝนก็มี ซึ่งในแง่ของการเข้าถึงข้อมูลจากการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนจีน ชาวบ้านริมโขงเน้นการตั้งรับปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่า แต่ยังไม่เคยได้รับข้อมูลจากทางการเกี่ยวกับการจัดการน้ำของเขื่อนในจีน เน้นหาข้อมูลจากทางเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แม้แต่สื่อเองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการปล่อยหรือกักน้ำของเขื่อนจีนได้อย่างทันท่วงที
.
“เราเห็นว่าชาวบ้านหลายคนยอมแพ้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง และยิ่งวันนี้มีสภาวะซ้ำเติมจากภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ผ่านมาทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและน้ำท่วมใหญ่เชียงรายเมื่อปี 2568 ที่ผ่านมา รวมถึงวิกฤตสารพิษในแม่น้ำกก – สาย ก็ยิ่งทำให้มีความกังวลและต้องตั้งรับปรับตัว อีกหนึ่งวิกฤตที่เจอในปีนี้คือสารหนูในตะกอนและในน้ำของแม่น้ำสาย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง และจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงซึ่งรับน้ำจากแม่น้ำสายด้วย” ปิยนันท์ กล่าว
.
ปิยนันท์กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งตรวจน้ำและตะกอนดินตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงมากขึ้นเพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามักพบค่าสารหนูปนเปื้อนบ่อยครั้งขึ้น แม้แต่แม่น้ำโขงก็ควรจมีการตรวจสารพิษด้วยเพราะมีกิจกรรมและโครงการเหมืองเกิดขึ้นตามลำน้ำโขงเช่นกัน นอกจากนี้หากมีการสร้างเขื่อนปากแบง คนเชียงรายริมโขงก็จะยิ่งเจอวิกฤตซ้อนขึ้นไปอีก เพราะเขื่อนปากแบงจะทำให้เกิดน้ำเท้อเข้ามากขึ้นซึ่งน้ำจากเขื่อนจะตีกลับเข้ามารวมกับน้ำจากลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงก็จะทำให้ชาวบ้านริมโขงจะมน้ำและอาจสูญเสียพื้นที่จำนวนมาก กล่าวคือ “เชียงของ – เวียงแก่น จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง” ไปโดยปริยาย

ธิติพันธ์ พัฒนมงคล กล่าวว่าครั้งแรกที่พบแม่น้ำโขง ตอนเรียนปี 4 ถ่ายรูปแม่น้ำโขงโดยกล้องฟิล์ม เป็นภาพที่สวยที่สุด ประมาณปี 2548 ตอนนั้นไม่รู้เลยว่ามีปัญหาจากเขื่อนแม่น้ำโขตอนบน ตอนนั้นเรื่องเขื่อนจีนไกลห่างจากเรามากๆ ซึ่งหนองคายก็ไกลจากเขื่อนจีนมากๆ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ตอนบน

“การพูดถึงแม่น้ำโขง ควรเป็นเรื่องระดับโลก เหมือนเวลาเราพูดถึงอเมซอนก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องระดับโลก วิกฤติแม่น้ำโขงคือวิกฤติระดับโลก ซึ่งขณะนี้ตัวแสดงต่างๆ ทุน รัฐ และประชาชน มีอำนาจไม่เท่ากัน เท่าที่วิเคราะห์ จะเห็นว่าทุนดูเป็นกลุ่มที่มีอำนาจสูงสุด และยังสร้างความร่วมมือจับมือกับรัฐในการคุกคามและเอาเปรียบประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่อยากจะเสนอในการผลักดันและรณรงค์ประเด็นเรื่องเขื่อนคือการสร้างองค์ความรู้ที่ทำให้สาธารณชนเห็นว่าเขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด เพราะดูเหมือนว่าขณะนี้การสร้างความชอบธรรมให้เขื่อนเป็นพลังงานสะอาดนั้นไปไกลถึงการบอกว่าเขื่อนสามารถลดโลกร้อนได้ ทั้งที่เขื่อนทำลายระบบนิเวศเป็นอย่างมาก สัตว์น้ำเองก็ถูกตัดวงจร ชุมชนริมน้ำถูกทำลายอย่างมาก ดังนั้น คำอธิบายที่ว่าเขื่อนเป็นพลังงานสะอาดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่”ธิติพันธ์ กล่าว

นักเขียนสารคดียังกล่าวอีกว่า ระบบการตรวจสอบของไทยหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านก็มีความเข้มแข็งกว่ามาก เพราะเคยฟังจากผู้สื่อข่าวลาวบอกว่าแม้แต่เป็นเขื่อนที่อยู่ในประเทศตนเอง พวกเขาก็ไม่รู้ข้อมูลเลย ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลใด ๆ ได้ หลายครั้งต้องอาศัยการรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศหรือสำนักข่าวในไทยถึงจะได้ทราบข้อมูล

พรพิมล จันหอม กล่าวว่าชุมชนริมโขง ที่ปากชม ปกติจับกุ้งได้ในช่วงพฤษภาคม กุ้งตัวเมียมาวางไข่ตามริมน้ำและในบุ่ง (บึงริมน้ำโขงในฤดูแล้ง) แต่หลายปีมาปีนี้ตลิ่งแม่น้ำโขงไม่ค่อยมีดินเลนตะกอน กุ้งวางไข่ไม่ได้ กุ้งก็ลดลง ชาวบ้านตกลงกันว่าไม่จับกุ้งจากริมตลิ่ง จะปล่อยให้เขาวางไข่ จะเปลี่ยนเครื่องมือหาปลาในการจับกุ้งที่น้ำลึก เพราะเขาวางไข่เองก็ยากมากแล้ว ชุมชนหารือกันร่วมกันหาทางอนุรักษ์

ชาวบ้านปกาชมกล่าวว่าชัดแจนว่าแม่น้ำโขงมีระดับน้ำผิดฤดู น้ำมาแรง ตลิ่งพัง รายชื่อครัวเรือนที่ทำเกษตรริมโขงในปี 2548 มีจำนวน 150 ครัวเรือน จากนั้นก็ลดลงไปเรื่อยๆ ปัจจุบันที่เหลือแค่ 7-8 คน ริมตลิ่งจริงๆ ไม่สามารถปลูกได้แล้ว ดินโคลนตะกอนที่มาช่วงน้ำหลากหายไป เหลือเพียงตะกอนทรราย ชาวบ้านต้องหยุดเกษตรริมโขง การหาปลามีแค่ผู้หญิงแม่บ้าน หาหอยหาปลาตามริมฝั่งและบุ่ง แต่ในเดือนเดียวน้ำขึ้นสองครั้ง ไม่มีแล้วก็ไม่ค่อยหาปลาแล้วสำหรับริมฝั่ง คนที่หาปลาลดลงมาก

ในวันเดียวกันที่นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว คณะกรรมมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) ได้มีการจัดงานวันแม่น้ำโขง เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปีข้อตกลงแม่น้ำโขง 0th Anniversary of the 1995 Mekong Agreement โดยมีนายจันทะเนด บัวละพา รองนายกรัฐมนตรีลาวเป็นประธาน ร่วมด้วยผู้แทนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งผู้แทน

นายจันทะเนดไกล่าวว่านี่เป็นการย้ำเตือนความร่วมมือที่ยั่งยืนในลุ่มน้ำ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว รัฐบาล 4 ประเทศได้มาร่วมประชุมกันที่เชียงรายเพื่อลงนามข้อตกลงนี้เพื่อการใช้แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เป็นวันกำเนิดของ MRC ในปีนี้เป็นการจัดงานร่วมกับสาธารณะ เป็นการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่ภาครัฐเท่านั้น ข้อตกลงแม่น้ำโขงเพื่อการจัดการและอนุรักษ์แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนเป็นการร่วมกันทำให้แม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงประชาชน สร้างเศรษฐกิจ และรักษาระบบนิเวศ แม่น้ำโขงในเวลานี้เผชิญความท้าทายทั้งการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เผชิญความรุนแรงของสภาพอากาศมากขึ้น ที่นครหลวงเวียงจันทน์ก็เป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเช่นกันดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในนามผู้แทนไทย กล่าวว่าแม่น้ำโขงคือเส้นเลือดของคนหลายล้าน รัฐบาลได้ได้ยึดตามข้อตกลงแม่น้ำโขงเสมอมา ความร่วมมือเพื่อทำให้แน่ใจว่าแม่น้ำโขงจะยังคงความสำคัญ แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายทั้งในภูมิภาคและนานาชาติ โดยเฉพาะการขยายตัวของเมือง ความต้องการทรัพยากรน้ำที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ ประเทศไทยยึดมั่นการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ธรรมาภิบาล การรักษาสิ่งแวดล้อมและสนองความท้าทายด้านอาหาร

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในนามผู้แทนไทย กล่าวว่าแม่น้ำโขงคือเส้นเลือดของคนหลายล้าน รัฐบาลได้ได้ยึดตามข้อตกลงแม่น้ำโขงเสมอมา ความร่วมมือเพื่อทำให้แน่ใจว่าแม่น้ำโขงจะยังคงความสำคัญ แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายทั้งในภูมิภาคและนานาชาติ โดยเฉพาะการขยายตัวของเมือง ความต้องการทรัพยากรน้ำที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ ประเทศไทยยึดมั่นการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ธรรมาภิบาล การรักษาสิ่งแวดล้อมและสนองความท้าทายด้านอาหาร

More to explorer