สำรวจผลกระทบจากโครงการเขื่อนพูงอยกั้นโขงใกล้แดนไทย-หวั่นผลกระทบข้ามแดน ชาวบ้านเผยบริษัทสร้างเขื่อนจ่ายค่าชดเชยให้ 50 % นักอนุรักษ์จี้รัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบทางกฎหมายต่อผลกระทบข้ามแดน

เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจโครงการสร้างเขื่อนพูงอยหรือที่มีชื่อเป็นทางการว่าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนพูงอย(Phou Ngoy) ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงห่างจากเมืองปากเซ 18 กิโลเมตร ในแขวงจำปาสัก สปป.ลาว และอยู่ห่างจากชายแดนไทยด้านจังหวัดอุบลราชธานีระยะทางน้ำประมาณ 90 กิโลเมตร

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ริมแม่น้ำโขงบริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนพูงอย ซึ่งเดิมทีจะมีการสร้างเขื่อนบริเวณที่แม่น้ำโขงไหลผ่านภูเขาเล็ก ๆ ที่ชื่อ “พูงอย” แต่ปัจจุบันได้มีการย้ายจุดสร้างเขื่อนมาไว้บริเวณหมู่บ้านขอนแก่นซึ่งอยู่ห่างจากพูงอยราว 4-5 กม.

โครงการเขื่อนพูงอยเป็นส่วนหนึ่งของระบบเขื่อนที่สร้างลดหลั่นบนแม่น้ำโขงสายหลักโดยมีเขื่อนไซยะบุรีอยู่ต้นน้ำโขงตอนล่าง ห่างออกไปประมาณ 1,360 กม. และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงอยู่ปลายน้ำห่างไปประมาณ 130 กม. โดยผู้พัฒนาโครงการคือบริษัทเจริญเอเนอยี้แอนด์วอเทอร์เอเชีย จำกัด (Charoen Energy and Water Asia Company Limited:CEWA) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อการส่งออก

“เขาย้ายจุดเพราะที่พูงอยมีบ้านฝรั่งและบ้านคนจีนมาสร้างไว้ใหญ่โต แถมตรงนั้นน้ำลึก 30 เมตร เขาเลยย้ายมาบ้านขอนแก่นที่น้ำตื้นกว่า และเป็นที่อยู่ของชาวบ้าน ไม่ต้องเสียค่าชดเชยเยอะ เขาบอกพวกเราว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ 50% แต่พวกเราไม่อยากได้” ชาวบ้านรายหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน กล่าว

ชาวบ้านรายนี้กล่าวด้วยว่า ตัวแทนบริษัทที่เป็นคนไทยได้จัดประชุมชาวบ้านแล้วประมาณ 6 ครั้งตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งพวกตนก็บอกว่าไม่ได้ต่อต้านอะไร แต่หากจะสร้างจริงๆก็ต้องจ่ายค่าชดเชยมูลค่าให้เท่าเทียมกับที่ดินและบ้านที่เสียไป

“พวกเราคัดค้านอะไรก็ไม่ได้ เพราะเขามากับเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่บอกว่าที่ดินทั้งหมดบนผืนแผ่นดินลาวเป็นของรัฐ ชาวบ้านไม่มีสิทธิอะไรสักอย่าง ชาวบ้านเป็นแค่ผู้ดูแลรักษาที่ดิน แต่เขาเป็นผู้คุ้มครองดิน ผืนดินเป็นของเขา เขาบอกว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ครึ่งหนึ่ง เช่น บ้านราคา 2 แสน เขาจ่ายให้ 1 แสน”ชาวบ้านรายนี้กล่าว

ทั้งนี้หมู่บ้านขอนแก่นมีประชากรราว 270 หลังคาเรือนโดย 100 หลังคาเรือนซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขงต้องถูกอพยพไปอยู่บนที่สูง โดยทางผู้พัฒนาโครงการรับปากว่าจะปลูกบ้านหลังใหม่พร้อมจัดหาที่ดินแห่งใหม่ให้ในบริเวณไม่ไกลจากพื้นที่เดิมนัก

ขณะที่ชาวประมงรายหนึ่งซึ่งกลับจากการหาปลาในแม่น้ำโขง กล่าวว่า ทำมาหากินกับการหาปลามาตั้งแต่เด็ก โดยลงเรือหาปลาวันละ 3 ครั้ง ซึ่งมีรายได้วันละ 400-500 บาท โดยลดลงจากสมัยก่อนที่เคยมีรายได้วันละนับพันบาท แต่ปัจจุบันปลาหายากขึ้นตั้งแต่มีการก่อสร้างเขื่อนฮูสะโฮงกั้นแม่น้ำโขงด้านล่าง ทำให้ปลาอพยพย้ายไปขึ้นที่อื่น

“ถ้าเขื่อนมาเราคงหาแบบนี้อีกไม่ได้ เพราะน้ำคงไม่เหมือนเดิม แค่เขาสร้างเขื่อนทางตอนล่าง ตอนนี้เราก็หากินยากเต็มที่ สมัยก่อนเคยได้วันละพันบาท ตอนนี้ปลาหายไปเยอะ”ชาวประมงรายนี้กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการสร้างเขื่อนและหาปลาไม่ได้จะทำมาหากินอะไร เขาสั่นหน้าพร้อมกับกล่าวว่า  “ก็คิดอยู่ว่าหาปลาไม่ได้ แล้วจะไปทำอะไร”

ขณะที่นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ จากเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศในลุ่มน้ำโขง(MEE Net) กล่าวว่า หากมีการสร้างเขื่อนพูงอยจะส่งผลกระทบข้ามแดนมาถึงประเทศไทยโดยจะทำให้น้ำเท้อเข้าไปในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง เช่น แม่น้ำมูล ทำให้น้ำเท้อท่วมแก่งตะนะทั้งปี นอกจากนี้จะลดศักยภาพของเขื่อนปากมูลด้วย โดยเขื่อนแห่งนี้อยู่ห่างจากเขื่อนฮูสะโฮงราว 130 กม.ซึ่งเป็นระบบนิเวศช่วงกลางของแม่น้ำโขงที่มีปลาอพยพขึ้นมาและกระจายไปตามลำน้ำสาขาต่างๆ ดังนั้น หากมีการสร้างเขื่อน ตัวเขื่อนจะขวางกั้นการอพยพของปลา ขณะที่ลำน้ำสาขาต่างๆซึ่งบริเวณนี้มีอยู่เยอะ จะทำให้น้ำเท้อเข้าไปทั้งสองฝั่ง

“เรื่องปลาเป็นเรื่องใหญ่ในอีไอเอพูดถึงเรื่องลูกปลาและปลาวัยอ่อนที่ลอยตามน้ำ แต่หากมีเขื่อนกั่น อัตราการรอดของปลาเหล่านี้จะน้อยมาก ปลาขาวที่อยู่ในบัญชีเฝ้าระวังของ IUCN 13 ชนิดที่หายากจะได้รับผลกระทบหมด และระดับน้ำจะขึ้นลงรายวัน ไม่มีเกาะแก่งตามธรรมชาติ ยิ่งหากมีการก่อสร้างเขื่อนบ้านกุ่มกั้นแม่น้ำโขงอีก อ่างกักน้ำของเขื่อนต่างๆที่ต่อเนื่องกันจะทำให้ตลอดลำน้ำโขงกลายเป็นน้ำนิ่งตลอดปี และพื้นที่ที่ปลาอยู่อาศัยรวมทั้งพื้นที่การเกษตรชายฝั่งก็จะหายไป”นายวิฑูรย์ กล่าว

“ผมคิดว่ารัฐบาลไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการแม่โขงจะมีท่าทีแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะมีผลกระทบข้ามพรมแดนชัดเจน คุณจะปฎิเสธไม่ได้ จะว่าไปตาม MRC ไม่ได้ เพราะเป็นผลบกระทบข้ามเขตแดนชัดเจน เราต้องถามเขาด้วยว่า ควรปฎิบัติตามกฎหมายไทยด้วยหรือไม่ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบอีไอเอ จะเข้าไปดูอย่างไร”นายวิฑูรย์ กล่าว

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ที่เขาพูดว่าอีไอเอผ่านความเห็นชอบจากฝั่งลาวแล้ว แต่ทำไมดูเฉพาะฝั่งลาว ไม่ดูเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนเลยหรือ ตอนนี้ลาวกำลังนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ MRC แต่ในส่วนของฝั่งไทยกลับไม่ทำอะไร ไม่ควรปล่อยให้เขาทำจนเสร็จแล้วมาตั้งคำถาม ดังนั้นคำถามใหญ่คือว่าทำไมรัฐบาลไทยถึงไม่มีท่าทีใดๆออกมา มีเพียงเรื่องการซื้อขายไฟฟ้าเท่านั้นที่มีความเคลื่อนไหว แสดงว่าฝ่ายไทยไม่สนใจเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเลยหรือ

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมขณะนี้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทยจึงสนใจสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงกันมาก นายวิฑูรย์กล่าวว่า เพราะการสร้างเขื่อนมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลายตัวที่ทำเงินได้ ทั้งการก่อสร้าง การปล่อยกู้ เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าทั่วไป โครงการเขื่อนไม่ใช้เชื้อเพลิง แต่ต้นทุนคือธรรมชาติที่ประชาชนแบกรับ และเทคโนโลยีที่เป็นเขื่อนตอบโจทย์ด้านไฟฟ้าได้ดีกว่าเพราะเดินเครื่องได้เร็ว สามารถเปิด-ปิดประตูได้ตลอดเวลา ที่สำคัญคือ กฟผ.จะมีส่วนในการซับคอนแทรคทุกโครงการไฟฟ้าในลาว ทำให้มีคำถามที่น่าสนใจว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

นักลงทุนไทย ใครเป็นใคร
ในอภิมหาโปรเจค “เขื่อนแม่น้ำโขงตอนล่าง”



เรื่อง -ภาสกร จำลองราช / ภาพ- เริงฤทธิ์ คงเมือง

แม่น้ำโขงตอนล่าง ไหลลัดเลาะชายแดนพม่าลาว เรื่อยมาถึงชายแดนไทยจนไหลทะลุเข้าประเทศลาวและวกกลับมาลัดเลาะประเทศไทยจนเข้าไปยังกัมพูชาและเวียดนาม มีแผนสร้างเขื่อนลดหลั่น หรือเขื่อนขั้นบันได 11 โครงการ โดยอยู่ในลาว และพรมแดนไทยลาว รวม โครงการ ภายใต้นโยบาย “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ของทางการลาว มีรัฐบาลไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าหลัก

ที่น่าสนใจคือการลงทุนในโครงการสร้างเขื่อนในประเทศลาว คือนักลงทุนรายใหญ่จากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขณะที่บริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด ที่เคยสนใจโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม แต่ตอนนี้ได้ถอย และมีบริษัทพลังงานบริสุทธิ์เข้ามาแทน

บนแม่น้ำโขงตอนล่างมีเขื่อนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ แห่งคือเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง ขณะเดียวกันมีโครงการเขื่อนที่ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วและกำลังเดินหน้าก่อสร้าง คือ โครงการเขื่อนหลวงพระบาง และโครงการเขื่อนปากลาย ส่วนที่กำลังจ่อลงนามการซื้อขายไฟฟ้า คือ โครงการเขื่อนปากแบง โครงการเขื่อนสานะคามและโครงการเขื่อนพูงอย

จุดสร้างเขื่อนพูงอย ย้ายจากจุดนี้ไปยังบ้านขอนแก่ที่มองเห็นอยู่ไกลๆ

เป็นที่น่ากังวลใจคือหลายแห่งแม้สร้างกั้นแม่น้ำโขงในแผ่นดินลาว แต่อยู่ไม่ไกลจากพรมแดนไทย ทำให้ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังฝั่งไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเรื่องการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนไทยลาวที่ใช้ร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขงเป็นจุดแบ่งแดนตามสนธิสัญญาที่ทำไว้กับฝรั่งเศส

ที่ผ่านมาชาวบ้านริมแม่น้ำโขงฝั่งไทย รวมถึงนักวิชาการ นักอนุรักษ์ ต่างออกมาทักท้วงถึงผลกระทบด้านต่างๆจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง แต่เสียงเล็กเสียงน้อยที่มีจำนวนมาก กลับไม่สามารถเปลี่ยนแปลงท่าทีของรัฐบาลไทยได้ แม้ผู้มีอำนาจของไทยจะอ้างว่าเป็นเรื่องของภาคเอกชนที่เข้าไปลงทุนในลาว ขณะที่ กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีโครงสร้างบริหารงานเป็นของตัวเอง ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงเลือกที่จะเงียบ แต่เป็นความเงียบเพียงพอที่จะทำให้เห็นถึงนโยบายของรัฐบาลไทย

สำหรับบริษัทที่รับจ้างศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA ) ส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทที่ปรึกษาเจ้าประจำจากประเทศไทย

น่าสนใจอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์การเมืองไทยกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง และมีแนวโน้มที่อำนาจในการบริหารประเทศกำลังเปลี่ยนขั้ว หากด้านนโยบายของรัฐบาลไทยกลับหลังหัน จะเกิดอะไรขึ้น

เขื่อนบนแม่น้ำโขงส่วนใหญ่มีขนาดการลงทุนระดับ แสนล้านบาทขึ้นไป เรียกได้ว่าเป็นอภิมหาโปรเจคก็ย่อมได้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของไทยจำนวนไม่น้อยต่างก็จับจ้องปล่อยกู้ร่วม syndicated loan ให้กับโครงการประเภทนี้เช่นกัน เพราะยิ่งกว่าเสือนอนกิน มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. ยาวๆ 29-35 ปีเป็นการันตี เป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำหรือแทบไม่มีความเสี่ยงเลย

อย่างไรก็ตามงานวิจัยของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม Fair Finance Thailand ระบุว่า หลายธนาคารไทยในเวลานี้ กำลังก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ การธนาคารที่ยั่งยืน”  (sustainable banking) โดยสามารถผ่านการนำมาตรฐานระดับนานาชาติของ Fair Finance Guide International โดยพบว่าธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่งเริ่มมีการแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มข้นมากขึ้น มีการประกาศว่าธนาคารเคารพในสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGP) ที่ครอบคลุมลูกค้าธุรกิจของธนาคารด้วย มีกระบวนการเยียวยาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัท (ลูกค้า) เป็นผู้ก่อหรือมีส่วนในการก่อ และมีการจัดตั้งหรือมีส่วนร่วมในกลไกเรื่องร้องเรียนจากชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ เป็นต้น

การผันความสุขของชาวบ้านริมโขงมาเป็นผลกำไรให้กลุ่มทุน ทำให้ชุมชนล่มสลาย ครอบครัวต้องบ้านแตกสาแหรกขาด เพราะความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงถูกทำลายจากการสร้างเขื่อน จึงเป็นคำถามที่กลุ่มผู้ปล่อยกู้คือธนาคารพาณิชย์ต้องตอบคำถามของสังคมให้ได้

วิถีชีวิตของชุมชนริมโขงย่านที่กำลังสร้างเขื่อน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นร่วมที่คนไทยทุกครัวเรือนต่างกำลังประสบอยู่ คือปัญหาค่าไฟฟ้าแพง หนึ่งสาเหตุสำคัญคือเนื่องจากปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยล้นระบบ แต่ยังคงมีการผลักดันให้รับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากโรงไฟฟ้าและเขื่อนของผู้ผลติตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ รวมทั้งโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงอีก แห่งที่กำลังจ่อลงนามสัญญา PPA โดยที่ต้นทุนทั้งหมดนี้ต้องจ่ายโดยผู้ใช้ไฟฟ้าชาวไทยทั้งประเทศ

การก้าวย่างของการเมืองไทยครั้งนี้ ย่อมส่งผลสะเทือนถึงแผนงานของอภิมหาโปรเจคบนแม่น้ำโขง ส่วนใครเป็นใครดูรายละเอียดได้จากตาราง (ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก เครือข่ายประชาชนไทย จังหวัดลุ่มน้ำโขง อัพเดท พฤษภาคม 2566)

ที่มา Transborder news

More to explorer