นักสิ่งแวดล้อมฟ้องคดีต่อบริษัทสร้างเขื่อนจีน รายงานระบุยูนนานมีไฟฟ้าล้าน-เกินความต้องการ


27 กุมภาพันธ์ 2561

เอ็นจีโอซึ่งอยู่ที่กรุงปักกิ่งฟ้องคดีเมื่อวันศุกร์ ต่อบริษัทซึ่งพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำใกล้เขตป่าสงวนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน อ้างว่ามีการละเมิดด้านสิ่งแวดล้อมหลายประการ

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขาหุยหลงในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา-ไต ของมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เริ่มขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2558 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 แต่ทางกลุ่ม “เฟรนดส์ออฟเนเจอร์” (Friends of Nature) ระบุว่าโครงการนี้จะทำลายป่าฝน คุกคามต่อสัตว์น้ำ และจะทำให้พื้นที่ป่าสงวนในเขตสิบสองปันนาบางส่วนจมน้ำ

บริษัท China Resources Power Yunnan Xishuangbanna จำกัด ซึ่งเป็นผู้สร้างเขื่อนแห่งนี้ และบริษัท Kunming Engineering จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยในคดีนี้ บริษัทคุณหมิงเอ็นจีเนียริ่งเป็นบริษัทลูกของ Power Construction Corporation of China ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนที่ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัท Fortune Global 500 และมีมูลค่าทางธุรกิจ 87 พันล้านเหรียญ

“การฟ้องคดีครั้งนี้มีเป้าหมาย เพื่อคุ้มครองป่าฝนในพื้นที่และสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำหลิวซู” เกเฟิง ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบายของกลุ่ม Friends of Nature บอก

ทางกลุ่มได้ร้องขอให้ไชนารีสอร์ซเซส หยุดการตัดไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ ให้แก้ไขผลกระทบด้านนิเวศวิทยาเนื่องจากการสร้างเขื่อน และให้ร่วมกับบริษัทด้านวิศวกรรม รับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

จากผลการศึกษาของกลุ่มเฟรนดส์ออฟเนเจอร์เองพบว่า พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขาหุยหลง และพื้นที่ที่คาดว่าจะใช้เป็นอ่างเก็บน้ำ เต็มไปด้วยป่าอนุรักษ์ที่มี “คุณค่าทางนิเวศวิทยาอย่างสูง” นอกจากนั้น รายงานระบุต่อไปว่า บริษัทคุณหมิงเอ็นจีเนียริ่งยังคาดการณ์ความเสียหายด้านนิเวศวิทยาของโครงการต่ำเกินไป ในระหว่างการทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางหน่วยงานระดับมณฑลได้พิจารณารายงานนี้ ก่อนจะอนุญาตให้มีการก่อสร้าง

นักสิ่งแวดล้อมยังตั้งข้อสังเกตว่า การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำหลิวซู ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการอพยพของสัตว์น้ำที่ยังไม่ถูกรบกวนเป็นแหล่งสุดท้าย ย่อมขัดขวางทำให้ปลาไม่สามารถว่ายผ่านไปมาจากลุ่มน้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) ตอนล่างได้ ในประเทศจีนเรียกแม่น้ำโขงว่าแม่น้ำล้านช้าง

เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปเขตสิบสองปันนา ให้ข้อมูลกับ The Paper ซึ่งเป็นสื่อในเครือเดียวกับ Sixth Tone ในเดือนมกราคมว่า ฝ่ายบริหารในท้องถิ่นมีความคาดหวังอย่างสูงต่อโครงการเขื่อนนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะให้ประโยชน์มหาศาลด้านการชลประทาน ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว และแก้ปัญหาความยากจน

มีการยอมรับว่าไฟฟ้าพลังน้ำเป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่ให้ความหวัง และเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมณฑลยูนนาน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ยากจน รวมทั้งสำหรับภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนโดยรวม อย่างไรก็ดี การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำอย่างรวดเร็วในภูมิภาค ส่งผลให้เกิด “ปริมาณไฟฟ้าที่ล้นเกินอย่างมาก” นับแต่ปี 2555 ทั้งนี้จากรายงานเมื่อปี 2559 ของวิศวกรของหน่วยงาน Yunnan Power Grid ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดส่งไฟฟ้าตลอดทั่วมณฑล

ทางการยูนนานได้อ้างข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและปริมาณไฟฟ้าที่ล้นเกิน และมีคำสั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ห้ามการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้งต่ำกว่า 250,000 กิโลวัตต์ นับว่ามีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้าที่เขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) ถึง 90 เท่า ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขาหุยหลงที่มีแผนจะก่อสร้างจะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 113,000 กิโลวัตต์ กลับไม่ได้ถูกยกเลิก เนื่องจากมีการอนุมัติโครงการก่อนจะมีคำสั่งห้ามดังกล่าว เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ข้อมูลกับ The Paper

เขื่อนเขาหุยหลงเริ่มปรากฏเป็นข่าวระดับประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 หลังมีการปล่อยน้ำจำนวนมากเนื่องจากเกิดฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันจนเต็มอ่างเก็บน้ำ น้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากเขื่อนได้ท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร แม้สื่อมีการรายงานผลที่เกิดขึ้นค่อนข้างน้อย

ที่ผ่านมาเฟรนดส์ออฟเนเจอร์ได้ฟ้องคดีด้านสิ่งแวดล้อมประมาณ 35 คดี จากข้อมูลของเก ในเดือนสิงหาคม 2560 ทางหน่วยงานยังได้ฟ้องผู้จัดทำโครงการเขื่อนในแม่น้ำแดง (Red River) ซึ่งอยู่ในยูนนานเช่นกัน โดยอ้างว่าเขื่อนแห่งนี้คุกคามไก่ฟ้าที่ใกล้สูญพันธุ์ และในเดือนเมษายน 2559 ยังมีการฟ้องคดีต่อบริษัทเคมีสามแห่งซึ่งเคยครอบครองที่ดิน ที่ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นโรงเรียนสอนภาษาต่างชาติแห่งเมืองฉางโจว นักเรียนของโรงเรียนเกิดอาการเจ็บป่วย ซึ่งครอบครัวเชื่อว่าเป็นผลมาจากการปนเปื้อนของมลพิษในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้รับการกำจัดก่อนจะสร้างโรงเรียน ทางกลุ่มแพ้คดีนี้เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่จะมีการพิจารณาคดีเป็นครั้งที่สองในวันพุธ
ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ เกเชื่อว่าคดีนี้มีความสำคัญต่อการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของบรรษัทและรัฐบาลในประเทศจีน “การฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ” เธอบอก “ถือเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพมากสุดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขการปฏิบัติมิชอบด้านสิ่งแวดล้อม”

แปลจาก http://www.sixthtone.com/news/1001808/environmentalists-sue-developers-of-yunnan-hydropower-station

More to explorer

จดหมายเรียกร้องธนาคารผู้ให้สินเชื่อเขื่อนไซยะบุรี ติดตามบริษัทให้เปิดเผยความคืบหน้ารายงานมาตรการลดผลกระทบด้านการประมง การฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจของผู้อพยพโยกย้ายและแผนบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากการบริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรี

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดยื่นจดหมายถึง รมว.พลังงาน-ร้องทบทวนการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในแผนพีดีพี 2024 ชี้เพิ่มภาระต้นทุนค่าไฟ ย้ำปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง