ใบแถลงข่าว การประท้วงเพื่อท้าทายบริษัทไฟฟ้าพลังน้ำในเวทีประชุมโลกที่ปารีส

องค์กรภาคประชาสังคมประณามความพยายามของบรรษัทในการสร้างภาพว่า เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเป็น “พลังงานสีเขียว” ทั้ง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน และความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม

ปารีส (15 พฤษภาคม 2562) เครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนจำนวนมากจัดการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ เพื่อต่อต้านโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ทำลายล้าง ในช่วงพิธีเปิดการประชุมสมัชชาไฟฟ้าพลังน้ำโลก 2562 ที่กรุงปารีส ภายหลังการประท้วง ตัวแทนหัวหน้าเผ่าพื้นเมืองมุนดูรูกุจากเขตป่าอเมซอนของบราซิล ได้พยายามยื่นหนังสือที่สำนักงานใหญ่ของ EDF บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส เพื่อตั้งคำถามกับการที่บริษัทมีส่วนร่วมในโครงการสร้างเขื่อนที่ทำลายล้างในป่าอเมซอน แต่ตัวแทนบริษัทปฏิเสธที่จะออกมาพบกับพวกเขา

ในวันอังคารนี้ (14 พฤษภาคม) การประชุมสมัชชาไฟฟ้าพลังน้ำโลก (World Hydropower Congress) ซึ่งจัดขึ้นทุกสองปีโดยสมาคมไฟฟ้าพลังน้ำสากล (International Hydropower Association – IHA) ได้เริ่มต้นขึ้นที่ใจกลางกรุงปารีส และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นความพยายามของอุตสาหกรรมเขื่อนที่ต้องการสร้างภาพเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำว่าเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และจำเป็นเพื่อให้บรรลุความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

อย่างไรก็ดี เครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งขบวนการด้านสังคมแย้งว่า ข้ออ้างของอุตสาหกรรมเขื่อนเป็นเหมือนการสร้างภาพสีเขียว โดยมีเป้าหมายเพื่อขอรับเงินทุนสนับสนุนตามกลไกใหม่ อย่างเช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) พวกเขาชี้ให้เห็นถึงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลายโครงการส่งผลให้เกิดหายนะกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม

จากหลักฐานมากมายทางวิทยาศาสตร์ เราจะเห็นได้ว่าเขื่อนเป็นต้นกำเนิดสำคัญของก๊าซเรือนกระจก อย่างเช่น คาร์บอนไดอ็อกไซด์และมีเทน กลุ่มภาคประชาสังคมยังโต้แย้งบทบาทของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแง่การบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ปัญหาเหล่านี้และอื่น ๆ รวมทั้งผลกระทบจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำต่อแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นประเด็นที่ได้รับการอภิปรายโดยนักวิทยาศาสตร์ นักกิจกรรม และตัวแทนชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากบราซิล โคลอมเบีย เมียนมา และตุรกี ในเวทีคู่ขนานกับการประชุมสมัชชาไฟฟ้าพลังน้ำโลก และจัดขึ้นที่ Town Hall of the 6th Arrondissement of Paris ในวันที่ 13 พฤษภาคม เป็นการประชุมที่จัดขึ้นโดยเอ็นจีโอรวมทั้ง Planète Amazone, GegenStrömung/CounterCurrent, Rivers without Boundaries, International Rivers และ AIDA

มินต์ซอ วิทยากรคนหนึ่งในที่ประชุมซึ่งเป็นนักกิจกรรมและนักวิจัยจากเมียนมา ซึ่งได้รับรางวัลโกลด์แมนปี 2558 บอกว่า “ความมั่นคงด้านอาหารของประชาชนหลายล้านคน กำลังถูกคุกคามจากแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำอิระวดี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อที่ดินเกษตรกรรม ที่มีความสำคัญต่อการปลูกข้าวตามริมฝั่งแม่น้ำและในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ”

มีการเผยแพร่แถลงการณ์ร่วมในที่ประชุมคู่ขนาน ชี้ให้เห็นถึงคำสัญญาที่ว่างเปล่าของไฟฟ้าพลังน้ำ และความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหาทางออกเพื่อผลิตพลังงานและน้ำที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยมีผู้ลงนามในปฏิญญานี้ประกอบด้วยกลุ่มภาคประชาสังคมกว่า 250 กลุ่มในกว่า 70 ประเทศ และมีการแปลออกเป็นห้าภาษา

ในระหว่างพิธีเปิดเมื่อวันอังคารของการประชุมสมัชชาไฟฟ้าพลังน้ำโลกที่กรุงปารีส ตัวแทนของชุมชนพื้นเมือง ขบวนการด้านสังคมและเอ็นจีโอ ได้รวมตัวประท้วงพร้อมกับนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่ม Extinction Rebellion ด้านหน้าของซุ้มประตู Espace Grande Arche ในเขต La Defense เพื่อกระตุ้นให้ตัวแทนอุตสาหกรรมเขื่อน ได้เห็นผลกระทบด้านลบของไฟฟ้าพลังน้ำ ผู้ประท้วงเรียกร้องให้เห็นว่า มีนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่ตกเป็นเหยื่อการสังหาร เนื่องจากความขัดแย้งเรื่องเขื่อน “มิเกล แองเกล ปาบอน ปาบอนหายตัวไป เนื่องจากการรณรงค์ต่อต้านเขื่อนไฮโดรโซกาโมซาในโคลอมเบีย ซึ่งยังคงเดินหน้าต่อไป แม้จะมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” ฆวน ปาโบล โซเลอร์จากกลุ่ม Movimento Ríos Vívos of Colombia กล่าว

ที่กาบอง เขื่อนคินเกเลและเขื่อนชิมเบเลส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ “ช่วงฤดูน้ำหลาก บางหมู่บ้านถูกน้ำท่วมเนื่องจากน้ำเอ่อล้นจากอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นทะเลสาบ น้ำมีสภาพเน่าเสีย และสัตว์น้ำตาย ไม่มีมาตรการใด ๆ เพื่อช่วยเหลือพวกเราในพื้นที่ รัฐบาลก็ไม่รับฟังข้อร้องเรียนของเรา เป็นเหตุให้เราต้องมาร้องเรียนที่ต่างประเทศ” อัสโซซา หัวหน้าเผ่าพิกมีจากกาบองกล่าว

ตัวแทนสามคนจากชนเผ่ามุนดูรูกุในเขตป่าอเมซอนของบราซิล รวมมทั้งหัวหน้าเผ่าอาร์นัลโด คาบา, อาเลซซานดรา โครัป และแคนดิโด วาโร มุนดูรูกุ ได้เข้าร่วมในการประชุมเวทีคู่ขนาน และการประท้วงช่วงพิธีเปิดสมัชชาไฟฟ้าพลังน้ำโลก ตอนบ่ายเมื่อวานนี้ พวกเขาพยายามยื่นหนังสือประท้วงที่สำนักงานใหญ่ของอีดีเอฟ หรือ Électricité de France ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลฝรั่งเศสถือหุ้นใหญ่ อีดีเอฟมีส่วนร่วมในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำซีนอปที่อื้อฉาวในแม่น้ำเตเลสปิเรส ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปาโฮ อีดีเอฟยังมีส่วนร่วมในการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนยักษ์เซาลุยซ์โดทาปาโฮ ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมในเขตซอเร มุยบู ของชนเผ่ามุนดูรูกุ ตัวแทนของอีดีเอฟปฏิเสธไม่ยอมออกมาเจรจากับหัวหน้าเผ่ามุนดูรูกุ “อีดีเอฟเข้ามารุกรานดินแดนของเรา ทำลายแม่น้ำของเรา ทำลายดินแดนและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเรา เมื่อเรามาที่นี่เพื่อยื่นหนังสือถึงบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ พวกเรากลับถูกขัดขวาง เราเสียใจมาก แต่เรายังคงมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนของเรา” อาเลสซานดรา มุนดูรูกุกล่าว

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวทีคู่ขนานวันที่ 13 พฤษภาคม โปรดดู http://www.transrivers.org/2019/2634/
แถลงการณ์ร่วมในภาษาจีน อังกฤษ โปรตุเกส รัสเซีย และสเปน https://drive.google.com/open?id=1pgS3YHm4zy5_LFSSjRe0KH-DMK773DQI
ลิงค์ไปที่จดหมายของชนพื้นเมืองเผ่ามุนดูรูกุถึงบริษัทอีดีเอฟ: Électricité de France (โปรตุเกสและอังกฤษ): https://drive.google.com/file/d/1TxqIiOuJDxNUI2YKPtUBrE_wucJLFl-E/view?usp=sharing https://tinyurl.com/y5elalu4
รูปถ่ายที่สื่อมวลชนนำไปใช้ได้โดยไม่คิดมูลค่า (กรุณาให้เครดิตกับผู้ถ่ายคือ Todd Southgate):
https://drive.google.com/drive/folders/1rAG06KwuWGI1C5H14cieFlnMZrVMVXSb
https://tinyurl.com/y34b2g7u
คลิปวีดิโอการประท้วงในช่วงพิธีเปิดการประชุมสมัชชาไฟฟ้าพลังน้ำโลก และความพยายามของชนพื้นเมืองเผ่ามุนดูรูกุในการยื่นหนังสือที่สำนักงานใหญ่ของ IHA: https://youtu.be/9BrI3AqVnXE
สำหรับภาพที่มีความละเอียดสูง: https://wetransfer.com/downloads/fe60045d490c765f5065ed5df79603b520190514195535/83e07e8328e0515a52c9a64eb42a69ff20190514195535/855f89
เอกสารจาก CounterCurrent เกี่ยวกับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำและการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ: tinyurl.com/y6mbjqj2

More to explorer

จดหมายเรียกร้องธนาคารผู้ให้สินเชื่อเขื่อนไซยะบุรี ติดตามบริษัทให้เปิดเผยความคืบหน้ารายงานมาตรการลดผลกระทบด้านการประมง การฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจของผู้อพยพโยกย้ายและแผนบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากการบริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรี

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดยื่นจดหมายถึง รมว.พลังงาน-ร้องทบทวนการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในแผนพีดีพี 2024 ชี้เพิ่มภาระต้นทุนค่าไฟ ย้ำปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง