เลียบเลาะแม่น้ำโขง

โดย สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา

“ตื่น ตื่น ตื่น จะออกเดินทางกันแล้ว เดี๋ยวจะไปไม่ถึงไหน”

เสียงเตือนของเพื่อนร่วมทางตะโกนดังลั่น สะกัดความฝันจนหยุดชะงัก น้ำเสียงอันอ่อนหวานล่องลอยมาในห้วงคำนึงปะทะความรู้สึกชั่วขณะก่อนลุกออกจากที่นอน

    “สิ่งที่ยากที่สุดคือการเริ่มต้น การเริ่มต้นของเช้าอันอบอุ่น ท่ามกลางบรรยากาศอันเหน็บหนาว คือทรมานจากการตื่น ตื่นขึ้นมาเพื่อจะลุกฝ่าวงล้อมของความหนาว”

    นึกเสียดายยังฝันไม่จบ แต่คงไม่เป็นไรเก็บเอาไว้ฝันต่อก็แล้วกัน 

    “ปลุกกันแต่เช้าเลยนะจะรีบไปไหน กำลังฝัน” 

“ฝันถึงใครพี่” เพื่อนร่วมทางเริ่มตรวจสอบความฝัน 

“ฝันถึงแม่น้ำ แม่น้ำที่ไหลผ่านไปหลายๆที่” “แม่น้ำมันก็ไหลไปหลายที่แล้วแม่น้ำสายไหนล่ะ” เสียงตอบโต้อย่างคลางแคลงใจ 

“ก็แม่น้ำที่เรานอนอยู่ใกล้ๆนี่แหละ” “นอนอยู่ใกล้ๆเกือบจะจมลงไปในน้ำยังจะฝันถึงอีกหรือ” เพื่อนคงงุนงน ขนาดอยู่ใกล้ๆก็ยังจะฝันถึงอีก “อยู่กับความจริงยังไม่พอนะคนเรา” 

            “มันเป็นชีวิต ชีวิตของคนมิอาจตัดขาดจากสายน้ำไปได้” ถ้อยคำประโยคสุดท้ายปิดฉากการสนทนายามเช้าก่อนเตรียมตัวออกเดินทาง

…………………………………………

แก่งผาได บริเวณที่แม่น้ำโขงไหลล่องเข้าสู่ประเทศลาวจุดหมายอีกแห่งที่เราเดินทางมาถึงในห้วงเวลาก่อนสิ้นแสงสุดท้ายของวัน ผาไดเป็นชื่อของแก่งหินซึ่งมีลักษณะคล้ายบันไดทอดลงไปในแม่น้ำ ใกล้ๆกับผาไดยังมีแก่งหินประวัติศาสตร์ชื่อว่าผาด่าง มีเรื่องเล่าว่าในยุคสมัยเจ้าฟ้างุ้มปกครองประเทศลาว ผาด่างถือเป็นเขตแดนระหว่างล้านนากับล้านช้าง รอยด่างตรงยอดผาที่เห็นในปัจจุบันเดิมเป็นรอยเลือดของวัวกับม้าซึ่งนำมาเซ่นสังเวย และชะโลมเลือดลงบนผาหิน เมื่อเราหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมองผ่านยอดผาไปยังภูเขาด้านหลัง จะเห็นใบไม้เป็นรอยด่างพาดยาวไปจนถึงสันเขาอย่างไม่น่าเชื่อ

“เขตแดนไทย-ลาว ขีดเส้นโดยฝรั่งเศส ทำให้ไทยเสียเปรียบเรื่องดินแดน”คนหาปลาพยามบอกเล่าให้พวกเราฟังอย่างตั้งใจ

“เสียเปรียบยังไง”เพื่อนร่วมทางถามอย่างสงสัย

“เขาแบ่งโดยถือเอาร่องน้ำลึกเป็นเขตหากมีสองร่องต้องถือเอาร่องน้ำติดฝั่งไทย เกาะแก่งกลางแม่น้ำเกือบทั้งหมดจึงเป็นสิทธิของลาว” แววตาของเขาออกอาการแสดงความรู้สึกสูญเสีย

“แล้วเวลาหาปลาแบ่งเขตกันหรือเปล่า”เพื่อนตั้งคำถามต่อ”

“หาปลาในน้ำไม่มีปัญหา เพียงแต่อย่าขึ้นไปบนฝั่งโดยไม่ได้รับอนุญาต ยังดีนะระหว่างหมู่บ้านอาศัยความเป็นเครือญาติ ความคุ้นเคยไปมาหาสู่กันไม่เคร่งครัดนัก”

ผมคิดเล่นๆหากโลกนี้ไม่มีเขตแดนของรัฐชาติ ความผูกพันของผู้คนอาจลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เราคงเหมือนปลาแหวกว่ายไปมา หรือเป็นเหมือนนกบินไปบินมาได้อย่างเสรีไม่มีเงื่อนไขใดๆ

หลังย้อนประวัติศาสตร์แล้วกลับมาสู่ปัจจุบัน บางสิ่งบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไป ผาไดฝั่งไทยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว  ฝั่งลาวเป็นที่ตั้งหมู่บ้านเล็กๆชื่อบ้านคกหลวง แขวงบ่อแก้ว มีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายประเพณีกับบ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่นในฝั่งไทยโดยไม่ขีดเส้นแบ่งดินแดน

 แม่น้ำโขงทอดกายอยู่เบื้องหน้า ขนาบข้างด้วยเม็ดทรายสีขาว กลางลำน้ำ–เกาะแก่งหินผาดั่งงานปฏิมากรรมธรรมชาติเรียงรายอย่างสง่างาม สลับสีเขียวของพุ่มไม้น้ำ  ในยามที่ท้องฟ้าฉาบแสงสีทอง สายน้ำไหลเอื่อยลัดเลาะหายไปในช่องเขาห้วงเวลานั้น อาจทำให้ชีวิตอันหยาบกระด้างถูกขัดเกลาให้อ่อนหวานและอ่อนโยน

    “สงบโดยไม่ต้องออกบวช” เพื่อนร่วมทางกระชากอารมณ์ ในขณะกลิ่นแอลกอฮอล์ลอยคลุ้งไปในอากาศ

    “เฮ้ย อย่าเปรียบเปรยให้มันเสี่ยงกับศีลธรรม” ผมส่งเสียงแสดงความเห็นต่าง หรืออาจคิดไม่ถึงในสิ่งที่เขากำลังพูด

    “ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติ เราจะเข้าใจชีวิต เพราะชีวิตต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ หาใช่การเรียนรู้เพื่อจะเอาชนะธรรมชาติ” เพื่อนตอกย้ำในสิ่งที่เขากำลังคิด

ผมเหม่อมองแม่น้ำโขงอย่างไม่ยอมละสายตาก่อนดวงตะวันจะล่ำลาจาก เหมือนไม่ยอมพลัดพรากจากห้วงเวลาอันสวยงาม สงบ และเยือกเย็น มันเป็นเพียงช่วงเวลาในขณะหนึ่ง เหมือนกับที่เพื่อนเคยบอกก่อนหน้านี้ 

หากเรากำลังถูกห่อหุ้มร่างกายด้วยแสงสีทองของดวงตะวัน เราถือเอาความงามแม่น้ำกับสิ่งรายล้อม ดั่งเช่น เม็ดทรายสีขาว เกาะแก่ง สีเขียวของพรรณพืช และคนผู้มีหัวใจอันงดงาม ดวงวิญญาณของคนกล้าแกร่งเป็นคัมภีร์ของการดำรงตน

    “ใช่สิเราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชายห่มผ้าเหลืองแสดงตัวตนเพียงแค่สัญลักษณ์” ผมครุ่นคิดในใจ คิดย้อนถึงคำพูดของเพื่อนร่วมทาง

    แม่น้ำโขงมักซ่อนความสลับซับซ้อนกับข้อสงสัยไว้ให้ผู้คนอยู่เสมอ เริ่มตั้งแต่ไหลมาจากไหน ผ่านที่ใด หรือสิ่งรายล้อม พื้นผิวน้ำ ใต้น้ำ แม้กระทั่งความเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นแม่น้ำเลื่องลือนามไม่กี่สายในโลกที่ผู้คนอยากมาเยือน

“บั้งไฟพญานาคและพญานาค มีจริงหรือ” คำถามเก่าแก่ของคนทั่วไป เมื่อเขาเดินทางมายืนต่อหน้าแม่น้ำโขง

    “ถ้าพระเจ้ามีจริง บั้งไฟพญานาค และพญานาคก็มีจริง” คำตอบของชายเฒ่าคนหนึ่งเขาผูกพันกับแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน เขายังเล่าต่ออีกว่า “แม่น้ำโขงคือพญานาค พญานาคคือแม่น้ำโขง”

    “แม่น้ำโขง…มีพรรณพืช พันธุ์ปลากี่ชนิด เศรษฐกิจของชาวบ้าน คิดเป็นตัวเลขปีละเท่าไหร่กับการพึ่งพาแม่น้ำโขง” คำถามนักวิชาการผู้ค้นหาข้อมูลเชิงสถิติ

    “ปลามีเป็นร้อยชนิด เงิน–บ่ฮู้เหมือนกั๋น บ่ได้นับ ปอเลี้ยงลูกได้สี่ส้าห้าคน” คำตอบของคนหาปลา ผู้เหน็ดเหนื่อยกับคำถามซ้ำซาก

    “ไก กินได้หรือคะ” คำถามของนักเดินทางผู้มาจากแดนไกล 

    “ปลาก็กินได้ คนก็กินได้” คำตอบของแม่เฒ่าผู้กำลังง่วนอยู่กับการเก็บไก

    “ใครเป็นคนสร้างแม่น้ำโขง” คำถามระหว่างเด็กน้อยเมื่อเขาเกี่ยวก้อยกันลงเล่นน้ำ

    “ใครสร้างคงไม่มีค่อยมีใครรู้นะ แต่ใครจะช่วยกันรักษา” ไม่มีใครริอาจตอบคำถามก่อนที่พวกเขาจะพากันกระโดดตีลังกาลงน้ำ

แม้ว่าหลายคนจะพยายามค้นหาคำตอบจากคำถามมากมาย แต่ในความเป็นจริงส่วนหนึ่งอาจพบคำตอบ อีกหลายคำถามเรามิอาจหาคำตอบได้ และคงไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องค้นหา หากการค้นคำตอบเป็นเพียงแค่การเอาชนะ หรือความพยามเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างถึงที่สุด นอกจากการเฝ้าชื่นชมอย่างใกล้ชิด หรือการเฝ้าชื่นชมอยู่ห่างๆ

ผมมีโอกาสใกล้ชิดกับแม่น้ำโขงแค่เพียงส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย จากเชียงแสน-หลวงพระบาง และบางส่วนระหว่างชายแดนไทย-ลาว ภาคอีสาน ในประเทศเขมรจากเมืองสตรึงเตรง-ทะเลสาป เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระยะทางถึงสี่พันเก้าร้อยเก้ากิโลเมตร จากต้นน้ำในที่ราบสูงธิเบต ยาวใกลถึงเวียตนามใต้ หากเราไม่นับการไหลผ่านโดยเส้นพรมแดนรัฐชาติ เราจะพบว่าแม่น้ำไหลผ่านแผ่นดินอันหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นแม่น้ำของหลายแผ่นดิน นับตั้งแต่ ธิเบต จีน สิบสองปันนา พม่า ลาวสูง-ลาวลุ่ม-ลาวเทิง ไทย เขมร เวียตนาม และอีกหลายกลุ่มซึ่งไร้เขตการปกครองตนเอง

                การเดินทางท่องธรรมชาติเกิดจากแรงบันดาลใจ ใคร่รู้ ใคร่เห็น  และการเดินทางล่องเรือ

กลางลำน้ำ หรือการเลียบเลาะริมโขง เป็นแรงดลใจอันเกิดจากมนต์เสน่ห์ของแม่น้ำ ผู้คนสองฝากฝั่งโขงโดยมิอาจปฏิเสธได้ วันนี้พวกเราเลือกเส้นทางออกจากเชียงของตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-ลาว 

            “เราจะเดินทางเลียบชายแดนเลียบฝั่งโขง ตามเส้นทางในแผนที่” แผนการเดินทางสู่จังหวัดน่าน เลย หนองคาย อุบลราชธานี เริ่มต้น 

            ตะวันลับฟ้าไปแล้วหลายชั่วโมง เรายังหาทางไปหมู่บ้านโป่งคำไม่เจอ เอกสารแผนที่เริ่มหมดความหมาย เลยต้องอาศัยการสอบถามจากคนสองข้างทาง ถามหาวัดโป่งคำที่พำนักของสมณะท่านหนึ่งผู้ซึ่งมีความมุ่งมั่นในการสร้างธรรมะกับธรรมชาติ และการสร้างคน ในพื้นที่จังหวัดน่าน คนแถวนั้นคงรู้จักท่านเป็นอย่างดีทำให้เราถึงที่หมายอย่างราบรื่น

            “นมัสการตุ๊ปี่ มาถึงค่ำน้อยเน้อ” ผมเริ่มทักทายเมื่อเห็นรอยยิ้มของท่าน เราเพียงเจอหน้ากันเป็นครั้งที่สอง

            “บ่เป็นหยัง เข้ามาข้างในก่อน ตุ๊ปี่รออยู่ มากันกี่คน”

            “มากันห้าคนครับ ช้าเพราะตะกี้หลงเข้าซอยไปในป่า” อาจเป็นคำแก้ตัวต่อหน้าพระกับการเดินทางอันล่าช้า ก่อนจะพากันไปนั่งรอบโต๊ะเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเดินทาง

            “ตั้งใจแวะหาตุ๊ปี่ ขออาศัยนอนโตยพรุ่งนี้ตอนบ่ายถึงจะเดินทางต่อไปเมืองเลย”

            “คืนนี้ หมู่สูคงจะอ่อนเพลีย พักผ่อนตามสบายก่อน วันพรุ่งนี้ตุ๊ปี่จะพาไปดูห้องเรียนธรรมชาติ หลังจากนั้นจะพาไปอู้กับลุงสม ไปฮื้อกำลังใจแก ตื่นขวายๆก็บ่เป็นหยังเน้อ”

             ผมอมยิ้มในใจ กับถ้อยคำของตุ๊ปี่ “ตื่นขวายๆ” เราคงได้นอนหลับอย่างสบายโดยไม่ต้องกังวลใจกับเจ้าของบ้านผู้เป็นสมณะ เพราะพวกเราชอบนอนตื่นสายเป็นประจำ

            ยามสาย–ของวันต่อมา ตุ๊ปี่พาพวกเราเดินลัดเลาะไปด้านหลังวัด ทางเดินผ่านป่า ด้านซ้ายเป็นแปลงป่าสักปลูก ด้านขวาเป็นป่าปล่อยขึ้นตามธรรมชาติ

            “สองแปลงนี้เอาไว้เปรียบเทียบกัน ว่าป่าปลูกกับปล่อยไปตามธรรมชาติ ทำแนวกันใจเอาไว้ คนมาเห็นจะมีความชัดเจน” เพื่อนร่วมทางยิ้ม เคยได้ยินแต่แนวกันไฟ แต่ตุ๊ปี่กับมีทีเด็ดการดูแลป่าโดยการทำแนวกันใจ ที่นี่เลยกลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติเปิดให้เรียนได้ทั้งปี

            ถัดจากเขตป่า มีพื้นที่โล่งเล็กน้อยสำหรับปลูกข้าวนาปี โดยใช้ควายไถนา ฤดูแล้งปลูกผักพื้นบ้าน ระบบเกษตรที่นี่ไม่ใช้สารเคมี 

            “แปลงเพาะปลูกที่นี่ มีชาวบ้านมาดูแล้วกลับไปทำที่บ้าน ตอนทำใหม่ๆเขาบ่เจื่อ กลัวผักบ่งาม ปลูกขายคนจะบ่ซื้อ”

            นอกจากนั้นยังมีคอกเลี้ยงหมูป่า สองตัว ตุ๊ปี่บอกว่าเลี้ยงใว้เอาขี้มาใส่แปลงผัก แม้จะเป็นอาณาบริเวณเล็กๆ แต่ก็ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ จากห้องเรียนแรก ตุ๊ปี่พาพวกเราไปแปลงเกษตรของลุงสม ผู้หันหลังให้กับสารเคมีอย่างสิ้นเชิง

            “แต่ก่อนอู้กับไผก็ส่ายหัว เขาว่ายะนา ปลูกผัก อย่างลุงบ่ได้กิ๋นแล้ว บ่าเดี่ยวคนมาซื้อของลุงหลาย ยะอย่างลุงหลายแล้วเน้อ”

             ที่ดินลุงสมมีเพียงสี่ไร่ หลังฤดูทำนา แกเริ่มปลูกพืชผักหมุนเวียนกันหลายชนิด ปลูกเอาไใว้สำหรับกินเป็นอันดับแรก ที่เหลือก็ขายบ้าง เป็นอยู่อย่างนี้ประมาณ 9 ปี มีชีวิตกับการเกษตรโดยไม่พึ่งพาปัจจัยจากภายนอก 

            “เมืองน่านยังดีที่ยังคงฮักษาธรรมชาติ วัฒนธรรมเอาไว้ได้ อาจเป็นเพราะความเจริญทางวัตถุเข้ามาถึงช้า หรือเมืองน่านไม่ใช่ทางผ่าน เป็นทางตัน ไม่ตั้งใจมาจริงๆจะมาไม่ถึง”

            ”แต่ถึงอย่างไรยามนี้เมืองน่านคงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลง พวกเราที่อยู่ที่นี่คงต้องช่วยรักษาวิถีแบบดั้งเดิมกับการดูแลรักษาธรรมชาติต่อไป”

            ตุ๊ปี่สรุปความคิดเห็น ก่อนที่ พวกเราจะร่ำลาออกเดินทางต่อ เพื่อเดินทางสู่ที่หมายต่อไป

            ถนนเลียบเขา สันติสุข-แม่จริม ยังพบเห็นหมู่บ้านเรียงรายอยู่สองข้างทาง สร้างความอบอุ่นในใจให้คนเดินทาง จนล่วงเลยไปถึงทางแยกสู่ทางไปบ้านโคกจังหวัดอุตรดิตถ์หมู่บ้านเริ่มน้อยลงจนที่สุดก็เข้าสู่เขตป่าหนาทึบ  เราเริ่มสวนทางกับรถสิบล้อ รถแบคโฮ รถบดถนน เป็นระยะๆ 

              “ถนนมันไปได้จริงๆนะ” เพื่อนร่วมทางบางคนเริ่มสงสัย

            “ในแผนที่มันระบุว่าถนนเชื่อมต่อกันได้ตลอด เริ่มตั้งแต่ เชียงของ เข้าน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก แต่มันผ่านเฉียดเขตจังหวัดละนิด” เพื่อนผู้นำทางพูดอย่างมั่นใจ

            “ผมเคยเดินทางผ่านมาแถบนี้ ผ่านแบบเฉียดๆเหมือนกัน” เพื่อนร่วมทางผู้ทำหน้าที่สารถีพยามสร้างความมั่นใจ

            นี่ไม่ใช่การเดินทางครั้งแรกของพวกเรา แต่เป็นการเดินทางลัดเลาะตะเข็บชายแดนไทย-ลาวครั้งแรกของทุกคน

            “เส้นทางสายใหม่ชวนให้ตื่นเต้นดีนะ เพียงแต่กังวลใจเล็กน้อยเพราะไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเจออะไร ยิ่งเป็นเส้นทางตามแนวชายแดน–บางช่วงร้างผู้คน”

             น้องสาวเพื่อนร่วมทางแสดงความคิดเห็น เธออายุยังน้อยหากเทียบกับประสบการณ์การเดินทางของชีวิต แต่เธอก็มีความสุขในใจลึกๆ เพราะพวกเรามีเป้าหมายร่วมกันว่าเราจะเดินทางพบปะกับผู้คนเพื่อสร้างพันธมิตร เป็นการเดินสู่ห้องเรียนธรรมชาติเท่าที่จะสามารถทำได้ ห้องเรียนอันนอกเหนือจากที่เคยได้เรียนรู้ 

            รถยนต์จอดกระทันโดยเพื่อนคนขับไม่ยอมบอกอะไร เขาเปิดประตูวิ่งไปดูหมุดผูกฝางสีแดงแล้วรีบย้อนกลับมาบอกเพื่อนร่วมทาง 

            “พี่จะสิ้นสุดเส้นทางสร้างใหม่แล้วนะ ไม่แน่ใจว่าไปต่อจะเป็นอย่างไร” เขาพูดด้วยสีหน้ากังวล

            “เดินหน้าต่อ กลับก็ไกล ขอให้ออกจากป่าก่อนตะวันตกดินก็แล้วกัน” เพื่อนร่วมทางแสดงความคิดเห็นปนกับคำภาวนา ทุกคนขานรับ

            เราออกเดินทางต่อไม่กี่นาที พบว่าเส้นทางข้างหน้า ปรากฏร่องรอยของถนนซึ่งเคยถูกใช้งานชั่วคราวในอดีต หลักลายซุกตัวอยู่ในพงหญ้า หลักกิโลเมตรตัวเลขบอกระยะทางและทางไปข้างหน้าเลือนลางไม่เป็นภาษา

            “มันน่าจะเป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์เขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์” เพื่อนร่วมทางเริ่มย้อนประวัติศาสตร์ 

            ถนนสายเก่าเลียบไหล่เขาช่องทางเดียวดูไม่ต่างจากทางเกวียน เราต่างภาวนาของให้มันพ้นออกจากกลางป่าก่อนตะวันลับฟ้าเพื่อจะไปให้ถึงหมู่บ้านข้างหน้า ด้วยความไม่คุ้นกับเส้นทางทำให้รู้สึกว่า การเดินทางบนถนนรกร้าง ไกลและยาวนานเหลือเกิน แม้จะเป็นช่วงระยะทางสั้นๆ เมื่อเทียบกับระยะทางตลอดทั้งเส้นทางที่ต้องเดินทาง

            ในที่สุดพวกเราก็เคลื่อนตัวโผล่ออกจากป่าสู่ถนนลาดยางอย่างดี ถนนลาดยางใหม่เอี่ยมแปลกตา เหมือนไม่เคยสัมผัสกับยางรถยนต์มาก่อน บางช่วงรถพาเลี้ยวหลบกองขี้ควาย บางช่วงใบไม้เกลื่อนเต็มถนน ถนนสายใหม่ คดโค้งทอดตัวเลี้ยวดิ่งสู่หุบเขาเบื้องล่าง

            “ออกจากป่าได้ทันเวลานะ เรากำลังเดินทางไปถึงทางแยกบ่อเบี้ย เลี้ยวขวาจะเข้าบ้านโคก” เพื่อนผู้ทำหน้าที่นำทางเริ่มควานหาเป้าหมายในแผนที่

            สามแยกบ่อเบี้ย-บ้านโคก รอยต่อระหว่างจังหวัดน่านกับอุตรดิตถ์ ชายสวมชุดลายพลางห้าหกนายยืนถือปืนโบกมือส่งสัญญาณให้รถจอด

            “อนุญาตครับ จะไปใหนกันขอดูบัตรประชาชนหน่อย” เป็นการทักทายและการตรวจค้นด้วยรอยยิ้มอย่างสุภาพ เท่าที่เคยผ่านพบ

            “จะไปเลยครับ เดินทางมาตามแผนที่ พอดีมาเจอถนนร้าง แผนที่ไม่ได้บอกเอาไว้” พวกเราบางคนเริ่มทักทายแบบกันเอง

            “ยังไม่เสร็จอีกเหรอ เห็นเริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี40 แล้วนะ” ถึงตอนนี้มันก็ปาเข้าไปตั้ง 8-9 ปี คงจะสร้างแบบไม่ต้องเร่งรีบ ผมนึกในใจ

            “มาทำอะไรกัน” ชายชุดพลางเริ่มถามต่อ

            “มาทำหนังสือครับ หนังสือแม่โขงโพสต์” เพื่อนร่วมทางตอบด้วยรอยยิ้ม พร้อมกับยื่นหนังสือให้ด้วยมิตรภาพ

            “ถ่ายรูปร่วมกันหน่อยนะครับ” พวกเราเริ่มตีสนิท 

            “มาพวกเราถ่ายรูปกับเขา เพื่อจะได้ลงหนังสือ” ชายชุดพลางตะโกนบอกเพื่อน

            พวกเราตกลงกันว่าจะไม่เคร่งเครียดกับเวลา และการเดินทางรอบนี้ถือว่าเป็นทั้งการทำงานและการท่องเที่ยว ค่ำไหน นอนนั่น

            ไม่ใช่เป็นกฏระเบียบ คำสัญญา แต่เป็นกรอบกว้างๆสำหรับการเดินทางร่วมกัน เพื่อป้องกันภาวะความตึงเครียดของคนร่วมทางเกินหนึ่งคนขึ้นไป และมันทำให้ในคืนวันต่อมาเรามีโอกาสได้นอนพักในเขตอุทยานแห่งชาติภูสอยดาวอย่างไม่ตั้งใจ

            “ดาวเต็มท้องฟ้าสมกับชื่อภูสอยดาว แม้จะอยู่เพียงแค่ตีนภู” แทบไม่น่าเชื่อว่าผมเดินย่ำรอยเท้าของหญิงสาวนักเดินทางเปี่ยมฝันเธอมานอนนับดาวไม่กี่วันก่อนหน้านี้ 

            ค่ำคืนอันเงียบสงบทุกคนต่างหลับไหลใต้แสงดาวเกลื่อนฟ้า

            รุ่งเช้า–พวกเราออกอาการเร่งนิดๆเผื่อจะมีเวลาเพียงพอสำหรับการแวะอำเภอด่านซ้ายเป็นกำไรก่อนเดินทางเข้าสู่เมืองเลย 

            “หมอที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชื่ออะไรนะ” ผมถามเพื่อนร่วมทางเพราะเราเจอแกที่กรุงเทพ เพื่อจะได้แวะทักทายทบทวนการรู้จัก

            “ผมก็จำไม่ได้ เอาใว้ได้แวะจริงๆถามคนด่านซ้ายคงรู้จักแก มีคนบอกว่าแกเป็นนายอำเภอตัวจริงคนรู้จักทั้งอำเภอ ไม่ใช่คนท้องถิ่นที่นี่แต่ไม่ย้ายไปใหน” “แกคงจำเราได้นะ”

            การเดินทางไม่ต่างกับการดำเนินชีวิตของคน ณ.ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง สิ่งที่มุ่งหวังอาจเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง อาจสมหวังหรือผิดหวัง และครั้งนี้ก็เช่นกัน เราไม่ได้คาดหวังว่าจะไปภูสอยดาวกลับได้นอนนับดาว และเราคาดหวังว่าจะได้แวะด่านซ้ายกลับกลายเป็นเพียงแค่ได้เดินทางผ่าน แต่พวกเราก็ไม่ได้สรุปว่าผิดหวังเพียงแต่บอกว่า ค่อยกลับมาใหม่อีกครั้ง

            ประมาณบ่ายสองโมงเราเดินทางมาถึงเมืองเลย เมืองที่ผมเก็บเอาประทับใจใว้ในมุมหนึ่งของชีวิต

           “เราคงต้องพักกันที่นี่หลายวัน ก่อนออกเดินทางไปเชียงคาน แวะเจอกับพรรคพวกที่ทำงานเมืองเลยก่อน” 

            จากเชียงของ-เมืองเลย หากเราล่องเรือตามลำน้ำโขงในลุ่มน้ำลาว-ไทย สายน้ำจะไหลวกเข้าสู่ประเทศลาว ผ่านปากแบง หลวงพระบาง ก่อนจะโผล่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนตรงปากน้ำเหือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านท่าดีหมี หากเดินทางต่อจากนั้นเราจะผ่าน เวียงจันทร์ หนองคาย นครพนม มุกดาหาร หนองบัวลำพู อำนาจเจริญ และแม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่ประเทศลาวอีกครั้ง บริเวณหมู่บ้านเวินบึกอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

            เป็นเพียงความมุ่งหวังในขั้นต้นในการเดินทางเลียบเลาะลำน้ำโขง ระหว่างไทย-ลาว หลังจากนั้นมันจะเป็นการไขว่คว้าในช่วงชีวิตที่เหลือ สู่ความใฝ่ฝันที่จะเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิตจากธิเบตถึงปากแม่น้ำโขงประเทศเวียตนาม

More to explorer