ย้อนรอยก่อนวันวางศิลาฤกษ์ “เขื่อนไซยะบุรี” และเสียงที่ไม่ได้ยินของลูกหลานแม่น้ำโขง

อีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้ เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ก็จะเริ่มผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเวลา 29 ปี เว็บไซต์ MyMekong ขอพาย้อนอดีต ไปดูสถานการณ์ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ณ ปลายปี 2555 ในช่วงที่มีพิธีเริ่มก่อสร้างเขื่อน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อการอพยพของปลาและการประมง แหล่งรายได้และวิถีชีวิต ฯลฯ และไม่กี่เดือนมานี้ ก็ได้เห็นกันแล้วว่าตั้งแต่มีการทดลองผลิตไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ก็พบเหตุการณ์วิบัติ ความเปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างรุนแรงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ดังที่ปรากฎในหน้าข่าว

ลาวเริ่มสร้างเขื่อนไซยะบุรี ระส่ำลุ่มน้ำโขง


โดย โลมาอิรวดี

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เนชั่นสุดสัปดาห์ พฤศจิกายน 2555

ชาวบ้านรู้สึกเครียดและถูกกดดันทันทีที่ไดยินข่าวว่าทูตไทยประจำกรุงเวียงจันทน์ ยกหูโทรศัพท์หาผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ให้ปลดป้ายรณรงค์หยุดเขื่อนไซยะบุรีออกจากเรือที่ลอยอยู่ริมแม่น้ำโขง ในเขตอำเภอศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ตรงข้ามกับบ้านพักและสถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ก่อนพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการในเวลา 14.00 น. ของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555

ยังไม่ทันที่ชาวบ้านจากพื้นที่ในเครือข่าย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จะเดินทางมามากันครบ 350 คนตามที่นัดหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจนับสิบนายพร้องทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เข้ามาอยู่ในงาน ณ วัดชุมพลพานพ้าว อ.ศรีเชียงใหม่ เรือเร็วของทางการลาวจำนวน 3 ลำ ก็แล่นตรวจตราอยู่กลางลำน้ำ และยังมีเฮลิคอปเตอร์ บินวนอยู่บนท้องฟ้าเหนือลำน้ำโขง ผู้นำกิจกรรมตัดสินใจเริ่มกิจกรรมก่อนเวลาเพื่อให้จบกิจกรรมโดยเร็ว

บายศรีใบตองรูปพญานาค 3 เศียร ถูกยกขึ้นบนโต๊ะบูชา ทุกคนนั่งลงกับพื้นและเริ่มพิธีสักการะแม่น้ำโขง และบูชาพญานาค จากนั้นจึงร่วมกันอ่านแถลงการณ์จากเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ถึงผู้นำประเทศเอเชีย-ยุโรป ในวาระการประชุมอาเซมซัมมิท เรื่องแม่น้ำโขงกำลังเกิดวิกฤติข้ามพรมแดน หยุดเขื่อนไซยะบุรี

นายเสถียร มีบุญ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ผู้นำอ่านแถลงการณ์ กล่าวว่าเครือข่ายเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม ได้รับรู้ว่าแม่น้ำโขงกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงทางตอนล่างที่กำลังคืบหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรี ตั้งอยู่ในสปป.ลาว โดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าลงนามโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งที่มีการคัดค้านจากรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม ตลอดจนประชาชนในภูมิภาค

“เขื่อนไซยะบุรี เป็น 1 ใน 12 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่จะกั้นแม่น้ำโขงทางตอนล่าง ชาวบ้านที่อาศัยริมแม่น้ำโขงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง พันธุ์ปลา การประมง การเกษตร การคมนาคม และปากท้อง วิถีชีวิตของประชาชนกว่า 60 ล้านคนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

“สำหรับประเทศทั้งในเอเชีย และยุโรป ที่เป็นผู้บริจาคแก่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) หลายปีที่ผ่านมา เราพบว่ากลไกของ MRC ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ แม้จะมีข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 แต่ก็แทบไม่มีความหมาย เพราะการตัดสินใจไม่ได้อยู่บนฐานของ ข้อเท็จจริง ความรู้ และการมีส่วนร่วม แต่กลับเป็นเรื่องของผลประโยชน์เฉพาะหน้า


“ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการแก่สาธารณะและผู้ได้รับผลกระทบ และไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านที่เพียงพอที่จะใช้ประเมินความเสียหาย โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนต่อชุมชนท้ายน้ำ-เหนือน้ำ ในประเทศเพื่อนบ้าน นับตั้งแต่ประเทศไทย เรื่อยไปจนถึงกัมพูชา และเวียดนาม

“จวบจนขณะนี้ ชาวบ้านริมน้ำโขงซึ่งจะต้องเป็นผู้เดือดร้อน ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาถามเราว่า ชุมชมริมแม่น้ำโขงพึ่งพาแม่น้ำโขงมากเพียงใด ใครกันที่จะรับรองได้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชน แม่น้ำโขงมีค่ามากเกินกว่าจะเป็นเพียงแหล่งผลิตพลังงาน หรือเพื่อสร้างความร่ำรวยแก่บุคคลกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว ประชาชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแห่งนี้ต้องการการวางแผนพลังงานที่รอบด้าน ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมตลอดสายน้ำ” นายเสถียร กล่าว

หลังจากนั้นขบวนเรือหาปลากว่า 50 ลำ ติดป้ายรณรงค์ ก็ออกแล่นวนตลอดความยาวของลำน้ำ โดยมีเรือลาดตรวจการจากฝั่งลาวตามประกบบริเวณเส้นพรมแดนบนลำน้ำโขง

เพียงไม่กี่ชั่วโมงถัดมาหลังการชุมนุมของชาวบ้าน สำหนักข่าวบลูมเบิร์ก ก็นำเสนอข่าวนายวีระพน วีระวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเมืองแร่ ลาวกล่าวว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรี มูลค่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้เปิดการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 โดยมีข้อมูลว่า นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับจดหมายเชิญร่วมงานจาก บริษัท ช.การช่าง เพียง 2 วันก่อนวันงาน


ต่อมาในวันอังคาร กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้ออกแถลงการณ์วิพากษ์การตัดสินใจของลาวที่เดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรี ระบุว่าอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหลายสิบล้านคน และก่อให้เกิดการแข่งกันสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นในภูมิภาค สหรัฐเรียกร้องให้ลาวระงับโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเอาไว้ก่อน จนกว่าการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเสร็จสิ้น

ปฏิกิริยาของข่าวที่นำเสนอในสื่อมวลชน พบว่าตลอดช่วงของการประชุมอาเซมมีการนำเสนอข่าวกรณีเขื่อนไซยะบุรีในสื่อต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อาทิ บลูมเบิร์ก เอพี เอเอฟพี นิวยอร์คไทมส์ และรอยเตอร์ สื่อมวลชนในภูมิภาคเองก็มีการรายงานเรื่องนี้ทั้งสื่อมวลชนไทย พนมเปญโพสต์ของกัมพูชา และสำนักข่าวเทียนเหนียน ของเวียดนาม แต่กลับไม่ปรากฎข่าวนี้ในสื่อของลาวแต่อย่างใด

บางกอกโพสต์รายงานสัมภาษณ์นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส่งสัญญาณแสดงจุดยื่นว่ารัฐบาลไทยจะไม่คัดค้านเขื่อนไซยะบุรี และพอใจกับความพยายามของรัฐบาลล่าวในการบรรเทาผลกระทบ

“รัฐบาลลาวทำการศึกษาแล้วหลายชิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีผลกระทบต่อการประมง” นายสุรพงษ์ ระบุ

การเดินหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรีกำลังรุดหน้าไปเป็นอย่างมาก เพราะทางการลาวไม่มีท่าทีว่าจะถอยเหมือนที่เคยตกลงไว้ในที่ประชุม MRC ที่ให้ศึกษาผลกระทบก่อน แถมเบื้องลึกยังสนับสนุนให้บริษัท ช.การช่าง ดำเนินการอย่างเต็มที่ ขณะที่ทั้งกัมพูชาและเวีดนามที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้เต็มๆ ก็ยังไม่มีปฏิกิริยาครั้งใหม่ออกมา

จับตาดูกันให้ดี เขื่อนไซยะบุรี อาจเป็นจุดเริ่มต้นของรอยร้าวยุคใหม่แห่งอาเซียน.

More to explorer

จดหมายเรียกร้องธนาคารผู้ให้สินเชื่อเขื่อนไซยะบุรี ติดตามบริษัทให้เปิดเผยความคืบหน้ารายงานมาตรการลดผลกระทบด้านการประมง การฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจของผู้อพยพโยกย้ายและแผนบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากการบริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรี

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดยื่นจดหมายถึง รมว.พลังงาน-ร้องทบทวนการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในแผนพีดีพี 2024 ชี้เพิ่มภาระต้นทุนค่าไฟ ย้ำปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง