ประกาศไม่เลือกพรรคการเมืองที่หนุนโครงการผันน้ำโขง ชาวบ้านลำน้ำชีร้องรัฐเร่งเยียวยาปัญหาเก่า-หยุดสร้างปัญหาใหม่

เมื่อวันที่  15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่วัดบ้านบุ่งหวาย ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ดและยโสธร ได้จัดกิจกรรม “บุญกุมข้าวน้อย” โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน   ซึ่งภายในงานได้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “นโยบายการจัดการน้ำที่ผ่านมา-ปัจจุบัน กับการแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด-จ.ยโสธร”  ซึ่งมีตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ตัวแทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม

นายนิมิต  หาระพันธ์  ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดยโสธร กล่าวว่า  ภาพอดีต 10 ปีที่ผ่านมา วิถีชีวิตถูกผลกระทบและต้องเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาที่ผ่านมา นอกจากชีวิตแล้ว การพัฒนาก่อให้เกิดผลด้านลบต่อธรรมชาติ  การสร้างเขื่อนทำให้เกิดผลกระทบไม่ใช่แค่ทรัพยากรแต่กระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนด้วย เช่น วัฒนธรรม ความผูกพันทางศาสนา การไม่เคารพธรรมชาติ ความล่มสลายของความผูกพันในครอบครัวและความผูกพันต่อศาสนา

นายทศพล  บัวผัน หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบ  ชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่างและเซบายล่าง กรมชลประทานกล่าวว่า ตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งตอนนี้การแก้ไขปัญหาแบ่งออกเป็น 2 ชุด โดยชุดแรก คือชุดที่ดำเนินการแล้วเสร็จในระดับพื้นที่กำลังรวบรวมคณะอนุกรรมการจังหวัดจากนั้นก็จะส่งเข้ากระทรวงสำหรับ ชุดที่ 2 จำนวน 80 กว่ารายนั้น ตอนนี้ประสานงานกับสำนักงานที่ดินเพื่อค้นหาและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ชาวบ้านและผู้ได้รับผลกระทบได้รับค่าชดเชยต่อไป

นายนิรันดร  คำนุ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ขอตั้งคำถามใน 3 ประเด็นคือ 1. รัฐมีความเข้าใจน้ำที่แตกต่างกับชาวบ้านหรือไม่เนื่องจากเมื่อพิจารณาวิธีการในการจัดการน้ำของรัฐมุ่งที่จะนำเอาน้ำมารองรับอะไรบางอย่างที่ไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริงและยังทำลายระบบนิเวศอีกด้วย ซึ่งตัวอย่างของโครงการโขงชีมูนก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญ ประเด็นที่ 2. มุมมองของรัฐที่มีต่อประชาชน โดยรัฐไม่ได้มองประชาชนในฐานะพลเมืองแต่มองประชาชนในฐานะผู้ที่ด้อยกว่า ดูได้จากการที่รัฐไม่ค่อยยอมให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและการตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆ  3. หลังจากที่ชาวบ้านได้รับค่าชดเชยแล้วชาวบ้านจะมีแนวทางอย่างไรต่อไปในการฟื้นฟูทั้งวิถีชีวิตและระบบนิเวศของชุมชนในพื้นที่อย่างแท้จริง และขอเสนอให้เปิดพื้นที่พัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีบทบาทในการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรในพื้นที่ให้มากขึ้น

นายสิริศักดิ์  สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่าเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ร่วมกันจัดกิจกรรม “บุญกุ้มข้าวน้อย” เพราะไม่สามารถที่จะจัดกิจกรรม บุญกุ้มข้าวใหญ่ได้ เนื่องปีที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดจากเขื่อนในแม่น้ำชี โดยพื้นที่การเกษตรจมอยู่ใต้น้ำกว่า 3 เดือน ปีนี้จึงได้จัดได้แค่งานบุญกุ้มข้าวน้อย เพราะไม่มีข้าว

“การเคลื่อนไหวของชาวบ้านน้ำชีตอนล่างย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 15 แล้ว และพี่น้องก็ยังเคลื่อนไหวเรียกร้องตลอดเพื่อให้หน่วยงานราชการดำเนินงานตามที่มีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม ตามที่ระบุเอาไว้ใน PostEIA  ตามมาตรการลดและแก้ไขผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร น้ำชี ถ้าทุกวันนี้พรรคการเมืองยังเดินหน้าหาเสียงผลักดันขายฝันประเด็นเรื่องเมกะโปรเจคน้ำ ต้องดูบทเรียนเมื่อ 30ปีที่ผ่านมา เช่น โครงการโขง ชี มูล  ที่เป็นความทะเยอทะยานและการสร้างวาทกรรม และกำหนดนโยบายสร้างเขื่อนในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี นำมาซึ่งผลกระทบถึงปัจจุบันและยังแก้ไขไม่เสร็จ”นายสิริศักดิ์ กล่าว

หลังจากเสร็จสิ้นวงเสวนา ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านได้อ่านคำประกาศซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า ขอให้หยุดวาทกรรมนักการเมือง รัฐ ที่ผลักดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยต้องเร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนในแม่น้ำชีให้เสร็จ โดย14 ปีแล้วชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ซึ่งเป็นนโยบายโครงการโขง ชี มูล เดิม ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ดังนี้ 1.สูญเสียอาชีพบนที่ดินทำการเกษตรเนื่องจากน้ำท่วมติดต่อกันนานเป็นระยะเวลานานหลายเดือนและขยายวงกว้าง 2.สูญเสียโอกาสในด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต 3.สูญเสียฐานทรัพยากรที่ชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัยตามฤดูกาล 4.เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำ

คำประกาศระบุว่า เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างมองว่าสาเหตุสำคัญเกิดจาก 1.เขื่อนที่สร้างขวางกั้นแม่น้ำชี 2.โครงสร้างของเขื่อน 3.การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1.ให้รัฐเร่งดำเนินการเยียวยาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชีตอนล่าง 2.ให้ดำเนินการฟื้นฟูอาชีพ ฐานทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำชี 3.เราจะไม่เลือกพรรคการเมืองที่เดินหน้าโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล 4.ต้องเคารพความหลากหลายขององค์ความรู้ในการจัดการน้ำขนาดเล็กที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ 5.โครงการโขง ชี มูล รัฐต้องแก้ให้เสร็จ และหยุดโครงการผันน้ำโขง

ที่มา https://transbordernews.in.th/home/?p=33404

More to explorer