แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ค้าน.!!! พลเอก ประวิตร..ทุบโต๊ะ ผ่านมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ปลุกผี เขื่อนปากชม จังหวัดเลย

.
“แม่น้ำโขง” ในฐานะแม่น้ำที่มีความสำคัญต่อชีวิตผู้คนและชุมชนลุ่มน้ำโขงคลอบคลุม 6 ประเทศ คือ จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม กำลังเผชิญกับการคุกคามผ่าน การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ โครงการสร้างเขื่อนกั้นประตูระบายน้ำบนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง และธุรกิจเหมืองทรายริมฝั่งแม่น้ำโขง ตลอดจนการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ก่อให้เกิดการพังทลายของดินและความเสื่อมถอยของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ การลดหายของความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่มีสาเหตุมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศในระบบทุนนิยมเสรีที่มีเป้าหมายคือเอาทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นปัจจัยการผลิตท่านั้น


.
“แม่น้ำโขง”ไหลผ่านภาคภาคเหนือ จังหวัดเชียงรายและภาคอีสานเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว คลอบคลุม 7 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และนครพนม ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ในสถานการณ์ที่แม่น้ำโขงต้องเผชิญกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่นเดียวกัน ได้แก่ โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล กับโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักที่ทำเขื่อนกั้นบริเวณปากแม่น้ำเลย อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย รวมทั้งโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสานะคามจะก่อสร้างเขื่อนกั้นบนแม่น้ำโขงในเขตประเทศสปป.ลาว ที่ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเชียงคาน เพียงแค่ 1.4 กิโลเมตร ตลอดจนโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากชม อำเภอปากชม จังหวัดเลย ที่มุ่งผลิตไฟฟ้าและยกระดับน้ำโขงให้สูงขึ้นเพื่อสูบน้ำโขงเข้าอุโมงค์ ผันน้ำเข้าโครงการ โขง เลย ชี มูล ส่งน้ำไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ในภาคอีสาน นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ตามลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง อาทิ ลุ่มน้ำสงคราม เป็นต้น ที่กำลังถูกผลักดันในแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ เราเชื่อว่าโครงการเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหารต่อชุมชนในลุ่มน้ำโขง อีสาน และลำน้ำสาขาอย่างรุนแรงในอนาคต
.
จากมติที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2563 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดยเฉพาะแผนหลักการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง มีทิศทางการพัฒนาและแนวทางการขับเคลื่อน 4 ระยะ ดังนี้ 1) การก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง 2) การพัฒนาใช้น้ำโขงและลำน้ำข้างเคียง 3) การพัฒนา โครงการ โขง เลย ชี มูล 4) การพัฒนาเขื่อนปากชม
.
ในข้อสรุปการประชุมอ้างว่าจะสามารถขยายพื้นที่ชลประทานกว่า 30 ล้านไร่ และสามารถยกระดับรายได้ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้าและการบริการ รวมทั้งสิ้น 334,051.35 ล้านบาท และจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
.
จากมติที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ดังกล่าว เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายภาคประชาชน ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์การพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนปากชม ณ บ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย จึงมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ดังต่อไปนี้
.
1. คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีการปรึกษาหารือกับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ เพราะการก่อสร้างเขื่อนปากชมจะต้องสร้างในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำโขงคือเขตแดนประเทศไทยและเขตแดน สปป.ลาว จะยึดหลักแนวเขตแดนระหว่างประเทศอย่างไร และการลงทุนจะมีแนวทางอย่างไรเพราะประเทศไทยและ สปป.ลาว มีข้อกฏหมายที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการแบ่งปันผลประโยชน์ หรือแม้แต่การบริหารจัดการน้ำในลำน้ำโขง
.
2. รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายการจัดการน้ำที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาในภาคอีสาน โดยเสนอให้ทำการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ทางเลือกการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับภูมินิเวศลุ่มน้ำต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง และที่สำคัญ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีบทบาทความรับผิดชอบด้านการจัดการน้ำโดยตรงต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนอย่างแท้จริง
.
3. ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในลุ่มน้ำโขงอีสาน ต้องร่วมกัน ตรวจสอบ วิพากษ์ และวิจารณ์ การผลักดันโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ที่กำลังถูกนำกลับมาทบทวนาอีกครั้ง ภายใต้บริบทใหม่ที่รัฐไทยออกกฎหมายที่รวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำและเอื้อประโยชน์ต่อการจัดการน้ำเพื่ออุตสาหกรรม แต่กีดกันภาคประชาน เช่น พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เป็นต้น
.
4. การใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท เพื่อผลักดัน โครงการ โขง เลย ชี มูล และโครงการเขื่อนปากชม รัฐบาลจะต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ภายนอกประเทศอย่างแน่นอน และประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระหนี้ของประเทศ ทั้งๆ ที่โครงการ โขง เลย ชี มูล และโครงการเขื่อนปากชม จะไม่มีความคุ้มค่าตามที่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวอ้างในมติที่ประชุม
.
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิค -19) จะเป็นการซ้ำเติมคนทุกข์ยาก ถ้ารัฐบาลไม่จัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาสุขภาพที่เป็นธรรม ดังนั้นการใช้งบประมาณของประเทศที่ต้องดูแลสุขภาพของประชาชนจึงมีความสำคัญกว่าการพัฒนาโครงการ โขง เลย ชี มูล และโครงการเขื่อนปากชม ที่ไม่มีความหวังและจะต้องถูกคัดค้านจากประชาชนอย่างแน่นอน
.
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ยืนยันที่จะปกป้องแม่น้ำโขง ด้วยการติดตาม ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอทางเลือกในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
.
ด้วยจิตคารวะ

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน
ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขงอีสาน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

More to explorer