แถลงการณ์เรียกร้องจีนยอมรับปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนจีนตอนบน

เป็นเวลามากกว่ายี่สิบปีแล้ว จากการเฝ้าสังเกตสถานการณ์และผลกระทบ สภาพความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นผลจากการจัดการน้ำของเขื่อนในประเทศจีน รวมถึงการติดตามสถานการณ์ข่าวสาร แถลงการณ์ การให้ความเห็นของจีน ที่มีต่อประเด็นปัญหาความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในแม่น้ำโขง ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่าทีของจีนนั้นไม่เคยยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและไม่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลการจัดการน้ำแก่ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างอย่างจริงจัง โปร่งใส และต่อเนื่อง  ทั้งยังพยายามเสนอแนวคิดด้านการจัดการน้ำที่ขัดแย้งกับวัฏจักรตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง การกล่าวอ้างถึงคุณูปการของการบริหารน้ำจากเขื่อนจีนที่ช่วยป้องกันน้ำท่วมและแก้ไขปัญหาน้ำแล้งให้กับประเทศน้ำโขงตอนล่าง รวมถึงการกล่าวอ้างถึงข้อทักท้วงของประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างให้เกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศนั้น เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังต่อประชาชนในประเทศท้ายน้ำอย่างยิ่ง 

แก่งฟ้า อ.ปากชม จ.เลย ปลายเดือนมกราคม 2565

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการไหลและระบบนิเวศแม่น้ำโขง เริ่มต้นตั้งแต่การเริ่มเปิดใช้งานเขื่อนม่านวาน (Manwan) เมื่อปี 2536 หรือ 29 ปีที่ผ่านมา  เขื่อนม่านวาน เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักเขื่อนแรก ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน ล่าสุดจีนได้สร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงแล้วเสร็จจำนวน 11 เขื่อน โดยไม่แสดงเจตจำนงที่จะปรึกษาหารือใด ๆ กับประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เช่น เขื่อนต้าเฉาชาน (Dachaoshan) สร้างเสร็จปี 2546, เขื่อนจินหง (Jinghong) สร้างเสร็จปี 2552, เขื่อนเสี่ยวหวาน(Xiaowan) สร้างเสร็จปี 2553, เขื่อนนั่วจาตู้ (Nouzhadu) สร้างเสร็จปี 2555 และเขื่อนล่าสุดคือ เขื่อนวุ่นอองหลง (Wunonglog) สร้างเสร็จปี 2562 เขื่อนทุกแห่งของจีนมีความจุอ่างเก็บน้ำรวมกันไม่ต่ำกว่า 41,700 ล้านลูกบาศก์เมตร  การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนทั้งหมดจะมีตัวชี้วัดการระบายน้ำที่เขื่อนจินหง อันเป็นเขื่อนตัวสุดท้ายก่อนออกจากพรมแดนจีนสู่แม่น้ำโขงตอนล่าง และไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีระยะทางโดยประมาณ 300 กิโลเมตร 

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการไหลของแม่น้ำโขงในระยะแรก เกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำลดระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนเมษายน หรือช่วงหน้าแล้ง ซึ่งทำให้การไหลและปริมาณน้ำลดลงผิดธรรมชาติอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี 2553 ภายหลังการเปิดใช้งานเขื่อนจินหง เมื่อเขื่อนได้ปิดการระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำโขงลดระดับต่ำจนเกิดความแห้งแล้งไปทั่วประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างในต้นปีนั้น เหตุการณ์นั้นทำให้ภาคประชาสังคมไทย ได้ยื่นจดหมายต่อสถานทูตจีนที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2553 เรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อนทั้งหมดบนแม่น้ำโขงตอนบน และให้มีการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและชุมชน แต่จีนไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ ยังคงเดินหน้าสร้างเขื่อนต่อไป

แก่งฟ้า อ.ปากชม จ.เลย ปลายเดือนมกราคม 2565

โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำโขงที่ประจักษ์ชัดคือ  ปี  2562 และปี 2563 เขื่อนจินหงระบายน้ำในอัตราที่ต่ำมากในฤดูฝน (กรกฎาคม-ตุลาคม) ซึ่งคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยอัตราการระบายน้ำของเขื่อนจินหง ในปี 2562 และ 2563 เท่ากับ 740 และ 936 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เท่านั้น การเก็บกักน้ำของเขื่อนทั้งหมดในจีน แล้วระบายน้ำออกมาในอัตราที่ต่ำนั้น ส่งผลให้ไม่เกิดสภาพน้ำหลากในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และเกิดสภาพน้ำโขงแล้งในฤดูฝน ดังปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ ไปทั่วโลก  ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องหลายประการ ได้แก่ ผลกระทบต่อการอพยพของปลาเข้าสู่ลำน้ำสาขา พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการขยายพันธุ์ ระดับน้ำโขงต่ำกว่าน้ำสาขาจนปลาไม่อาจว่ายเข้าไปวางไข่ได้, สภาพการอพยพของปลาที่ผิดธรรมชาติ โดยมีไข่ที่ไม่สมบูรณ์ รวมถึงการมีไข่ผิดฤดู, พันธุไม้น้ำตามธรรมชาติในแม่น้ำโขง เช่น ต้นไคร้น้ำ ต้นลำแซง ได้ตายลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งวางไข่ และที่อนุบาลตัวอ่อนของปลาและสัตว์น้ำ, ปริมาณน้ำที่ปล่อยลงมาน้อย ทำให้มีตะกอนน้อยลงตามไปด้วย ส่งผลต่อเนื่องไปยังความสมบูรณ์ของพื้นที่เกษตรริมแม่น้ำโขง, การสูญเสียพื้นที่เกษตรริมตลิ่ง เนื่องจากระดับน้ำโขงไม่หลากท่วมเป็นระยะที่เวลานานพอ ที่จะทำให้วัชพืชต่าง ๆ เน่าตายได้ตามวัฏจักรของน้ำหลาก รวมถึงตลิ่งทรุดจากการสูญเสียตะกอน 

แก่งฟ้า อ.ปากชม จ.เลย ปลายเดือนมกราคม 2565

 นอกจากนั้น แม้จะมีข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศจีน-ไทยอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ปี 2562 ที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนตอนบนในจีนช่วงฤดูน้ำหลาก และล่าสุดเมื่อปี 2563 ที่ได้ระบุเพิ่มเติมว่าจะมีการแชร์ข้อมูลการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนตอนบนตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตามระหว่างปี 2561-2564  เขื่อนจินหง มีการระบายน้ำเพิ่ม-ลด อยู่ตลอดทั้งปีโดยไม่มีการแจ้งเตือน และหลายครั้งก็มีการเพิ่ม-ลดการระบายน้ำรุนแรงมากกว่าการแจ้งเตือนที่เป็นทางการ และทางการจีนไม่เคยให้เหตุผลใด ๆ  โดยเฉพาะการลดการระบายน้ำในเดือนมกราคมปี 2563 และ 2564 นั้น มีรูปแบบที่เหมือนกัน กล่าวคือ แม้จะเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาแจ้งลดการระบายน้ำ แต่ข้อเท็จจริงคือ จีนกลับยังคงลดการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เหตุผลที่จีนอ้างการลดการระบายน้ำของเขื่อนจินหง ในเรื่องการซ่อมบำรุงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง ในระยะเวลาเพียง 34 เดือน ทั้งที่เขื่อนจินหงเพิ่งสร้างเสร็จมาเพียง 10 กว่าปีเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่า เป็นเหตุผลที่มีอยู่จริงหรือไม่ เนื่องจากจีนไม่เคยเผยแพร่ภาพการซ่อมบำรุงแม้แต่ครั้งเดียว 

สถานการณ์ล่าสุด คือ การระบายน้ำของเขื่อนจินหงระหว่างมกราคม-มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งของปี   ได้มีการระบายน้ำเพิ่มและลดอย่างฉับพลัน ในเดือนมกราคมจาก 820 เป็น 1,280 ลบ.ม/วินาที  ขณะเดียวกันเดือนมีนาคม จีนได้ระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากปกตินับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จาก 820 ลบ.ม/วินาที เพิ่มสูงถึง 2,760 ลบ.ม/วินาที ในกลางเดือนมีนาคม โดยปราศจากการแจ้งเตือนใด ๆ ต่อ ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ทั้ง ๆ ที่จีนได้ลงนามการบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการให้สารสนเทศด้านน้ำของแม่น้ำล้านช้างตลอดทั้งปีโดยประเทศจีนแก่ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง คณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา 

ไข่นกที่ถูกน้ำท่วมหน้าแล้ง หาดทราย บ้านหนอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.เหนองคาย 24 มีนาคม 2565

ความเสียหายและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนสะสม ประจักษ์ชัดตลอดหลายสิบปี ดังชาวบ้านเรียกว่า “น้ำท่วมหน้าแล้ง น้ำแห้งหน้าฝน”  ภาพน้ำท่วมแปลงเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง ปลากระชังชะงักการเติบโต, การอพยพของปลาที่เปลี่ยนไป ชาวประมงไม่สามารถจับปลาได้, เกิดความเสียหายของเครื่องมือประมง, ตลิ่งพัง, ที่สำคัญคือ หาดทรายและแก่งหินอันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของท้องถิ่นต้องจมอยู่ใต้น้ำโขงในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหน้าแล้ง สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและรายได้ของชุมชนในระดับท้องถิ่น โดยไม่สามารถประเมินค่าได้ ขณะเดียวกัน ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสียพื้นที่วางไข่ของนกในแม่น้ำโขง, การสูญเสียพืชไม้น้ำตามธรรมชาติในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งที่วางไข่และอนุบาลปลาวัยอ่อน เป็นต้น

แม้จะมีงานศึกษามากมายทั้งที่ศึกษาโดยหน่วยงานของรัฐบาลไทย เช่น กรมทรัพยากรน้ำ, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทั้งยังมีข้อมูลจากหน่วยงานอิสระ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพ, สถาบันทางวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคม ที่ให้ผลลัพธ์สอดคล้องกันว่า เขื่อนในประเทศจีนส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงตอนล่าง แต่ทางการจีนก็ยังกลบเกลื่อนปัญหาที่เกิดขึ้นและผลักไปให้เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ เหล่านี้เป็นการไม่ฟังเสียงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่ได้แสดงข้อมูลและข้อเท็จจริงต่อรัฐบาลจีนมาตลอด  

พวกเราขอให้ทางการจีนยุติการใช้ตัวเลขสัดส่วนน้ำโขงจากประเทศจีนว่า มีเพียงร้อยละ 13.5เท่านั้น โดยระบุว่าสัดส่วนดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำในภาพรวม  แท้จริงแล้วเมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนจิงหง กับปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำเชียงแสน จ.เชียงราย และสถานีวัดน้ำโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ในช่วงมกราคม-มีนาคม 2565 แล้ว พบว่า ปริมาณน้ำจากจีนมีสัดส่วนสูงมากกว่าร้อยละ 80-100 ที่เชียงแสน และมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30-50 ที่โขงเจียม ประเด็นนี้ทางการจีนเองย่อมรู้ว่าตัวเลขสัดส่วนน้ำร้อยละ 13.5 คือสัดส่วนที่วัดจากปากแม่น้ำโขงที่ประเทศเวียดนาม ดังนั้นจีนซึ่งเป็นประเทศใหญ่ ไม่สมควรทิ้งศักดิ์ศรีของตนเองด้วยการเล่นกลเรื่องตัวเลขเหล่านี้อีก

เมื่อทางการจีนพูดเสมอว่า “พวกเราต่างดื่มกินน้ำจากแม่น้ำสายเดียวกัน” อันหมายถึงการเป็นพี่น้องและร่วมแบ่งปันกัน เราจึงขอเรียกร้องให้ทางการจีน ยอมรับว่า เขื่อนแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงตอนบนในจีน และการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อน เป็นปัจจัยที่สำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและผลกระทบสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขง และขอเรียกร้องให้จีนทบทวนท่าที ที่จะไม่อาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงและความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์เพื่อปัดความรับผิดชอบ หรือพยายามเบี่ยงเบนทุกข้อมูล ข้อถกเถียง และการเรียกร้องของประชาชนให้เป็นเพียงการถูกแทรกแซงจากการเมืองโลก 

พวกเราหวังจะเห็นการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง ด้วยการรับฟัง ให้เกียรติ อย่างมีศักดิ์ศรี ระหว่างรัฐบาลจีน รัฐบาลลุ่มน้ำโขงและประชาชน อย่างแท้จริง

More to explorer