รายงานสถานการณ์แม่น้ำโขง ผลกระทบจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนจีน และเขื่อนไซยะบุรี

15 มกราคม 2564

โดย เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่ากองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศแจ้งเตือน เรื่อง ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจากลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง ตามที่กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีหนังสือถึง สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงฝ่ายไทย ลงวันที่ 5 มกราคม 2564 เรื่อง แจ้งปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนสาธารณรัฐประชาชนจีน จากเดิมระบายน้ำวันละ 1,904 ลบ.ม./วินาที เหลือวันละ 1,000 ลบ.ม./วินาที เพื่อบำรุงรักษาสายส่งโครงข่ายระบบไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 5-24 มกราคมนั้น เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้รวบรวมข้อมูลจากพื้นที่แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทยลาว จุดต่างๆ พบว่ามีสถานการณ์ดังนี้ 

บริเวณพรมแดนไทยลาว ที่สามเหลี่ยมทองคำ ถึง อ.เชียงแสน และอ.เชียงของ จ.เชียงราย พบว่าแม่น้ำโขงลดระดับอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ช่วงที่ลดแรงที่สุดคือ วันที่ 2 มกราคม ระดับน้ำที่สถานีเชียงแสน อยู่ที่ 2.85 เมตร ลงลงในวันที่ 4 มกราคม เหลือเพียง 1.94 เมตร จากการสำรวจของกลุ่มรักษ์เชียงของ พบว่าระดับน้ำโขงได้ดึงน้ำจากลำน้ำสาขา เช่นแม่น้ำกก ลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อเครื่องมือหาปลา การประมง และแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค

กอนช. ระบุว่าท้ายเขื่อนไซยะบุรี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว บริเวณสถานีเชียงคาน จ.เลย สถานีหนองคาย สถานีนครพนม สถานีมุกดาหาร และสถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงประมาณ 30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี

นายชาญณรงค์ วงศ์ลา ตัวแทนกลุ่มฮักเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย รายงานจากพื้นที่ว่าแม่น้ำโขงลดระดับลงอย่างมากและรวดเร็วกว่าปกติ  ทำให้พบว่าแพของกลุ่มประมงพื้นบ้านเชียงคานและแพหาปลาของชาวบ้านในเขต อ.เชียงคาน และแก่งคุดคู้ ต่างติดอยู่กับหาดหินท้องน้ำแม่น้ำโขง ระดับน้ำลดลงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงปลายเดือนธันวาคม น้ำที่ระดับลงก่อนฤดูกาลสร้างความกังวลใจให้คนท้องถิ่น เพราะชุมชนริมน้ำส่วนใหญ่ใช้น้ำโขง เป็นแหล่งน้ำดิบทำน้ำประปาสำหรับหมู่บ้านและอำเภอ

กลุ่มรักษ์เชียงคาน รายงานว่าช่วงที่น้ำโขงแห้งครั้งนี้ พืชชนิดหนึ่งที่ถูกค้นพบเพียงแห่งเดียวที่ริมน้ำโขงในเขตอำเภอเชียงคานคือ Crptocoryne Loeiensis  เมื่อปี 2554 และถูกจัดให้อยู่ในพืชเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ ของ IUCN ได้โผล่พ้นน้ำ กระจายอยู่รอบๆ ท้องน้ำ โขดหิน ริมตลิ่งของอำเภอเชียงคาน 

นายสมจิตร พิมโพพัน ทีมวิจัยชาวบ้านน้ำไพร อ.สังคม จ.หนองคาย รายงานว่าชาวบ้านที่ปลูกพืชผักริมฝั่งโขง พบปัญหาเรื่องน้ำแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรเป็นอย่างหนัก ชาวบ้านต้องต่อท่อสูบน้ำ ความยาวกว่า 400-500 เมตร สูบน้ำจากร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขงเพื่อนำน้ำไปยังแปลงเกษตร สวนผัก สวนยาสูบ ส่วนคนหาปลาก็พบว่า ระดับน้ำโขงที่ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้เรือต้องติดอยู่บนฝั่ง คนหาปลามาขยับเลื่อนเรือตามระดับน้ำที่ลดลงไม่ทัน คนหาปลาบางรายเกิดความกังวลว่าเครื่องยนต์เรือจะถูกขโมยหายไป จึงต้องถอดเครื่องยนต์ไปเก็บ ชาวบ้านหาปลาได้น้อยลง โดยเฉพาะปลาเอิน หรือปลายี่สกไทย โดยปกติแล้วจะอพยพจาดแม่น้ำโขงตอนล่าง มาผสมพันธุ์วางไข่บริเวณบ้านน้ำไพร -ตาดเสริม ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย แต่ปีนี้ระดับน้ำผันผวน ชาวบ้านจับปลาเอินได้เพียง 3-4 ตัว 

นายชัยวัตน์ ภาระคุณ ชาวบ้านริมโขง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย รายงานว่าเกิดภาวะน้ำโขงใส มีสาหร่ายสีเขียว หรือ “เทา” เป็นปรากฎการณ์สาหร่ายบลูม ไปตลอดเขตอำเภอเชียงคาน-ปากชม-สังคม เมื่อน้ำลดระดับลงอย่างรวดเร็ว พบว่าส่าหร่ายเหล่านี้แห้งตามหาดหินและแก่งหิน ซึ่งระดับน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ทำให้ชาวบ้านกังวลใจเรื่องของการอพยพของปลาเป็นอย่างยิ่ง

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน รายงานว่าแม่น้ำโขงบริเวณบ้านภูเขาทอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.เลย ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ชาวประมงจับปลาไม่ได้ เพราะมี “เทา” สาหร่ายเกิดหนาแน่นมาก สาหร่ายมักติดกับอวนของคนหาปลา ทำให้อวนหนักมากจนยกไม่ขึ้น ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า ระดับน้ำที่แห้งลงอย่างรวดเร็วนี้ อาจเป็นเพราะการใช้งานเขื่อนไซยะบุรี

ผลกระทบที่เกิดในพื้นที่ สอดคล้องกับข้อมูลระดับน้ำ MRC ที่ระบุว่า แม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งแต่เชียงแสน จ.เชียงราย ถึงปากแม่น้ำโขง ที่เวียดนาม ระยะทางกว่า 2000 กิโลเมตรนี้ ข้อมูลสถานีวัดระดับน้ำแม่น้ำโขงทั้ง 15 สถานี ปรากฎกว่า สถานีหลวงพระบาง มีระดับน้ำที่สูงมากที่สุด เนื่องจากการบริหารจัดการเขื่อนตอนบนและเขื่อนไซยะบุรี โดยระบุว่ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 – 4 มกราคม 2564 ระดับแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว (Long Term Average) ขณะที่ระดับน้ำแม่น้ำโขงที่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว เพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว เนื่องจากผลกระทบของการบริหารจัดการเขื่อนตอนบนและเขื่อนไซยะบุรี โดยเมื่อวันที่ 4 มค. 2563 ระดับน้ำที่สถานีหลวงพระบาง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.44 ม ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 6.43 ซึ่งระดับน้ำผันผวนมากถึง 3.6 เมตร

ข้อมูลของ MRC ระบุอีกว่า ระดับน้ำที่สถานีเชียงคาน สถานีเวียงจันทน์ และสถานีหนองคาย อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวในขั้นวิกฤต ระดับเดียวกับปี 2019 (พ.ศ.2562) ระดับน้ำที่ลดลงต่ำมากนี้อาจเกี่ยวเนื่องจากการบริหารเขื่อนตอนบน ซึ่ง MRC ไม่ระบุชื่อเขื่อน โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ระดับน้ำโขง ที่หนองคายอยู่ที่ระดับ 1.0 เมตร ซึ่งถือว่าต่ำมากกว่าค่าเฉลี่ยของระดับน้ำโขงในอดีตที่ผ่านมา และถือว่าเป็นวิกฤต โดยตลอดระยะทางกว่า 200-300 กิโลเมตรจากเขื่อนไซยะบุรีถึง อ.เชียงคานถึง จ.หนองคาย ไม่มีลำน้ำสาขาขนาดใหญ่และหรือเขื่อนขนาดใหญ่ที่จะมีการบริหารจัดการน้ำที่เป็นปัจจัยให้เกิดการผันผวนของระดับน้ำโขงได้

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธารกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงในเวลานี้ ที่ MRC ได้รับแจ้งจากจีน ว่าปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหง ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบนี้เกิดจากเขื่อน เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทำให้เกิดวิกฤติ สิ่งนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้และข้อมูลหลักฐานต่างๆ เริ่มปรากฎชัด ข้อมูลระดับน้ำจากเว็บไซต์ MRC ก็แสดงให้เห็นว่าน้ำโขงลดระดับตั้งแต่วันแรกๆ ของปี 2021 เช่นเดียวกับที่คนหาปลา เกษตรกร ลูกหลานแม่น้ำโขง ได้เห็นอยู่กับตาตนเอง ว่าแม่น้ำโขงวูบลดลงในเวลาเพียงข้ามคืน ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าการจัดการแม่น้ำโขงตลอดเวลาที่ผ่านมา มีเพียงมิติเดียว คือพัฒนาเศรษกิจมหภาค แต่แท้จริงแล้วแม่น้ำโขงมีหลากหลายมิติ มีชีวิต วัฒนธรรม แหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ความมั่นคงทางอาหาร แหล่งรายได้ และเศรษฐกิจท้องถิ่น กล่าวได้ว่าทรัพยากรแม่น้ำโขง คือแกนหลักของชุมชนที่อาศัยตลอดสองฝั่ง 

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าการแจ้งล่วงหน้า (notification) ของจีน ที่แจ้งมายัง MRC ในครั้งนี้ ในฐานะคนท้องถิ่น มองว่าการจัดการน้ำแม่น้ำโขง เพียงแค่แชร์ข้อมูลนั้นไม่เพียงพอ เพราะเป็นการจัดการน้ำของเขื่อนที่ไม่ได้อิงฤดูกาล ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ชุมชนท้องถิ่นเรียกร้องมาโดยตลอด ซึ่งยอดของปัญหาแม่น้ำโขง แก้ได้โดยการบริหารจัดการแม่น้ำโขงให้สอดคล้องกับฤดูกาลและระบบนิเวศ ซึ่งช่วงเวลา 2 ปีมานี้ (พ.ศ.2562-2563) ฤดูน้ำหลากของแม่น้ำโขงหายไปแล้ว ฤดูแล้งก็พบว่าระดับน้ำผันผวน น้ำแล้งบ้าง น้ำขึ้นบ้าง สำหรับระยะยาวจะสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก

ข้อมูลเพิ่มเติม www.mymekong.org

More to explorer