แม่น้ำโขงต้องการการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ไม่ใช่เขื่อนไฟฟ้าที่สร้างผลกระทบ

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมาธิแม่น้ำโขง (MRC) ประกาศที่จะนำโครงการเขื่อนสานะคามที่จะสร้างในประเทศลาวบนแม่น้ำโขงสายหลัก เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) เป็นเขื่อนที่ 6  

เขื่อนสานะคามไม่ควรจะถูกสร้างเพราะมีมูลค่าการก่อสร้างสูง ไม่มีความจำเป็น และมีความเสี่ยง  เขื่อนแห่งนี้ผลิตไฟฟ้าได้ 684 เมกะวัตต์ มีค่าก่อสร้างกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 8 ปี หากเฉลี่ยเวลาในก่อสร้างแล้วเขื่อนจะติดตั้งพลังงานได้เพียง 90 เมกะวัตต์ต่อปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับการติดตั้งพลังงานทางเลือกอื่นในภูมิภาค เช่น การติดตั้งพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามพบว่า เฉพาะเดือนเมษายน – กรกฎาคม มีกำลังการผลิตติดตั้งมากถึง 4,400 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าเขื่อนสานะคามถึง 6 เท่า 

ขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยีและการลงทุนด้านพลังงานเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่เขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างเขื่อนสานะคามกลับมีความเสี่ยงมากขึ้น ใช้เวลาก่อสร้างนาน ใช้เงินลงทุนสูง และจะกลายเป็นทรัพย์สินที่สร้างภาระ ความเสี่ยงต่างๆนี้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการสร้างเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขงในตอนบน ซึ่งจะทำให้การไหลและระดับน้ำไม่สามารถคาดการณ์ได้อันส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนสานะคามและเขื่อนอื่นๆบนแม่น้ำโขงสายหลัก

เขื่อนสานะคามมีเป้าหมายที่ส่งไฟฟ้าขายให้กับประเทศไทย แต่ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินโดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากการระบาดของโรคโควิท-19  นอกจากนี้การระบาดของโควิท-19 ยังได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนขึ้นถึงความสำคัญของพื้นที่การเกษตร แหล่งน้ำ ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ และการประมงในลุ่มน้ำโขง ในฐานะแหล่งความมั่นคงของชีวิตคนท้องถิ่นในภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นหลักประกันของการมีสุขภาพที่ดีและการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตินี้ได้อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม   

เขื่อนสานะคามจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงสายห่างจากชายแดนไทยไปเพียง 2 กิโลเมตร แต่กลับไม่มีการพิจารณาเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างจริงจัง ไม่ต้องพูดถึงความสำคัญในการปรึกษาหารือในเรื่องนี้ อีกทั้งยังพบว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ในรายงานการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมและผลกระทบสะสม ก็เป็นข้อมูลที่ล้าสมัยและคัดลอกมาจากรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนปากลาย เช่น หัวข้อการมีส่วนร่วมของสาธารณะ บทสรุป และข้อเสนอแนะ ก็เป็นเนื้อหาเดียวกับรายงานของเขื่อนปากลาย ต่างกันเพียงแค่ชื่อโครงการเท่านั้น และรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนฯ ดังกล่าวยังไม่มีการอ้างอิงรายงานการศึกษาต่างๆเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนไฟฟ้าต่อแม่น้ำโขงสายหลักที่มีการศึกษาและเผยแพร่มาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มันจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้สำหรับโครงการนี้ที่จะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนหลายล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำโขง 

พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงขอเรียกร้องให้ยกเลิกเขื่อนสานะคามและเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักอื่นที่มีแผนจะสร้าง แทนที่จะมีการนำโครงการนี้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือที่บกพร่องนี้ เราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศแม่น้ำโขงและคณะกรรมธิการแม่น้ำโขง ดังนี้ 

  • จัดการปัญหาตามข้อกังวลหลักต่อเขื่อนที่สร้างไปแล้ว 
  • ประเมินทางเลือกด้านพลังงานอย่างรอบด้านและโดยการมีส่วนร่วม จัดลำดับความสำคัญของการเดินหน้าเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาค ที่คำนึงถึงระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและความต้องการของชุมชนในภูมิภาค
  • จัดการปัญหาตามข้อกังวลหลักต่อกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า 

การแก้ไขปัญหาตามข้อกังวลหลักต่อเขื่อนที่สร้างไปแล้ว 

เขื่อนที่สร้างทั้งตอนบนและตอนล่างของแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขากำลังสร้างผลกระทบโดยตรงและผลกระทบสะสมต่อระบบนิเวศและชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำอย่างข้ามพรมแดน แต่ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบข้ามพรมแดน ความสูญเสียต่อวิถีชีวิต ความสูญเสียชีวิตและที่ดิน  และแม้กระทั่งสัญญาของรัฐบาลลาวที่จะทบทวนยุทธศาสตร์การสร้างเขื่อนในประเทศหลังจากเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยแตกเมื่อปี 2560 

รัฐบาล นักสร้างเขื่อน และสถาบันการเงินทั้งหลายต้องจัดลำดับความสำคัญในการจัดการกับผลกระทบของเขื่อนที่มีอยู่เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ แทนที่จะไปผลักดันเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงภายใต้หน้ากากเรื่อง “เขื่อนยั่งยืน” และมาตรการบรรเทาผลกระทบที่ไม่เป็นจริง 

การประเมินทางเลือกด้านพลังงานอย่างครอบคลุมโดยการมีส่วนร่วม และจัดลำดับความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

เราไม่จำเป็นต้องเอาแม่น้ำโขงมาแลกกับความต้องการด้านพลังงานและน้ำของภูมิภาค เพราะไทยซึ่งเป็นประเทศหลักที่จะรับซื้อไฟฟ้ามีพลังงานสำรองที่ล้นเกิน เมื่อเมษายน 2563 กระทรวงพลังงานของไทยระบุว่าในปี 2563 เรามีพลังงานสำรองที่อาจสูงมากถึง 40 % หรือประมาณ 18,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่ากำลังการผลิตของเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักทุกแห่งรวมกัน ขณะที่มีนาคม 2563 กัมพูชาได้ประกาศเลื่อนการสร้างเขื่อนซำบอและสตรึงเตร็งออกไปอีก 10 ปี

ถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเลิกการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงอย่างถาวร และให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเท่าเทียมกันด้านพลังงานทางเลือกที่เคารพสิทธิของชุมชน ภูมิภาคแม่น้ำโขงมีศักยภาพและความยั่งยืนด้านพลังงานทางเลือกสูงมาก ประกอบกับต้นทุนและการผลิตที่ลดลง เทคโนโลยีด้านการกักเก็บและการส่งผ่านพลังงานที่พัฒนาขึ้น ยิ่งทำให้ต้องตะหนักถึงการเข้าถึงพลังงานและความมั่นคงของประชาชนและเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยไม่ต้องทำลายแม่น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ มากกว่านั้น มาตรการประหยัดพลังงานและพลังงานทางเลือกที่ไม่ใช่เขื่อนยังสามารถเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และมีต้นทุนถูกกว่าเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่รวมศูนย์อำนาจ   

แทนที่จะเอางบประมาณอันมีค่าไปจัดกระบวนการปรึกษาหารือที่บกพร่อง มันควรจะถูกนำไปใช้ในการประเมินทางเลือกด้านพลังงานอย่างครอบคลุมและมีส่วนร่วมเพื่อผลทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า รวมถึงอนาคตด้านพลังงานที่ยั่งยืนและเท่าเทียม โดยการประเมินด้านพลังงานนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อันหมายถึงการรับประกันว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะนำไปสู่การพัฒนา การผลิต การกระจาย และการบริโภคพลังงานที่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนและสิ่งแวดล้อม 

การแก้ไขข้อกังวลหลักต่อกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า 

พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงได้นำเสนอข้อกังวลและชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องร้ายแรงในกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้านี้มาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่โดยรวมแล้วข้อเรียกร้องและข้อกังวลของประชาสังคม รวมถึงของรัฐบาลประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและประเทศผู้ให้ทุน และข้อเรียกร้องให้มีการศึกษาเพิ่มเติมและข้อมูล ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข 

นอกจากนี้ยังไม่มีขั้นตอนในการรับรองคุณภาพของข้อมูลที่ส่งไปยังการปรึกษาหารือล่วงหน้า เนื้อหาส่วนมากของรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และผลกระทบสะสมของเขื่อนสานะคามนี้ถูกคัดลอกมาจากรายงานของเขื่อนปากลาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงก็พบว่า “รายงานของเขื่อนปากลายนั้นลอกข้อมูลจากเขื่อนปากแบงเป็นส่วนมาก” นี้แสดงให้เห็นว่า การเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงการศึกษาที่ครอบคลุม ข้อมูลพื้นฐานและผลกระทบต่างๆ นั้นยังคงถูกเพิกเฉยและไม่มีการเชื่อมโยงกับการประเมินผลกระทบของเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักแต่ละแห่ง  ทั้งนี้บริษัท National Consulting Group (NCG) ที่ทำรายงานการศึกษาแบบคัดลอกนี้ และที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนปากแบง ปากลาย และสานะคาม ควรถูกห้ามไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับประเมินผลกระทบต่างๆอีกในอนาคต 

เราขอย้ำจุดยืนของเราในแถลงการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ว่า “…หากไม่มีการปฏิรูปที่สำคัญ ก็ไม่มีอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่ากระบวนการปรึกษาล่วงหน้าที่จะเกิดขึ้นนี้จะต่างจากที่เคยทำมามากนัก หรือจะสามารถรองรับมาตรฐานขั้นต่ำของความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ไม่ต้องพูดถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนผู้จะได้รับผลกระทบ ภาคประชาสังคม และสาธารณะชน” 

พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง

2 มิถุนายน 2563

More to explorer