แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เรียกร้องให้ยุติแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงไม่จำเป็นต่อพลังงานไฟฟ้าของไทย 

7 เมษายน 2563 

ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา การผลักดันการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยในแผนจะมีการสร้างเขื่อนไฟฟ้า 11 เขื่อน อยู่ในลาว 7 เขื่อน อยู่บนพรมแดนแดนไทย-ลาว 2 เขื่อน และในกัมพูชา 2 เขื่อน 

นับตั้งแต่ปี 2554 เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนแห่งแรกที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการ “การแจ้งเตือน การปรึกษาหารือล่วงหน้า และการทำความตกลง” หรือ Procedure for Notification, Prior Consultation and Agreement (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ. 2538 ที่ 4 ประเทศสมาชิกลงนามร่วมกัน โดยกระบวนการปรึกษาหารือฯ PNPCA ของโครงการเขื่อนไซยะบุรี ดำเนินไปท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นว่าเป็นกระบวนการที่เร่งรัด ปราศจากการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน จนในที่สุดเมื่อครบวาระ 6 เดือน คณะกรรมการร่วม (JC) ของ 4 ประเทศ ไม่สามารถตกลงกันได้ และเสนอให้ยกระดับการเจรจากรณีเขื่อนไซยะบุรี ไปสู่คณะมนตรี (Council) โดยคณะมนตรีมีมติให้ทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม โดยเป็นไปตามมาตราที่ 34 และ 35 ของข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ. 2538 ที่ว่าด้วยการแก้ไขข้อขัดแย้ง และข้อพิพาท 


หลังจากนั้นโครงการเขื่อนไซยะบุรี ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. จนนำไปสู่การก่อสร้างเขื่อน และผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ทั้งหมดนี้ดำเนินการไปโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน สอดคล้องกับการทบทวนทางเทคนิคโดย คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Review of the Design Change Made for Xayaburi Hydropower Project) ซึ่งระบุว่าขาดการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนด้วยเช่นกัน

ต่อมาโครงการเขื่อนอีก 4 โครงการ ได้เข้าสู่กระบวนการ PNPCA ได้แก่ ปี 2557 โครงการเขื่อนดอนสะโฮง (ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2562), ปี 2560 โครงการเขื่อนปากแบง, ปี 2561 โครงการเขื่อนปากลาย และล่าสุด ปี 2563 โครงการเขื่อนหลวงพระบาง และคาดว่าโครงการเขื่อนสานะคาม และโครงการเขื่อนภูงอย จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการ PNPCA ตามลำดับ ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ 


โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก มีผู้พัฒนาโครงการจากประเทศต่างๆ อาทิ จีน ไทย เวียดนาม มาเลเซีย โดยแหล่งเงินทุนมาจากสินเชื่อของธนาคารพานิชย์ไทยหลายแห่ง 

เมื่อเขื่อนไซยะบุรีเริ่มผลิตไฟฟ้า ได้ปรากฎผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่ชัดเจน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน ที่แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทยลาว นับตั้งแต่ อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งอยู่ท้ายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี เกิดปรากฏการณ์ระดับน้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำผันผวนผิดธรรมชาติ โดยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผลกระทบต่อการอพยพของปลาแม่น้ำโขง อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ในอนาคต นอกจากนี้ยังพบว่าพืชพรรณต่างๆ ที่ขึ้นริมน้ำและบนเกาะแก่งแม่น้ำโขงแห้งตายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้และเกิดปรากฎการณ์น้ำโขงสีคราม – แม่น้ำหิวตะกอน ปรากฎขึ้นในช่วงปลายปี 2562 อย่างต่อเนื่อง 

เหล่านี้ทำให้เขื่อนไซยะบุรีถูกตั้งคำถามอย่างหนักถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

ในวันที่ 7 เมษายน 2563 นี้ กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA)ของโครงการเขื่อนหลวงพระบาง จะครบวาระ 6 เดือน โดยโครงการเขื่อนหลวงพระบาง มีบริษัทปิโตร เวียดนาม เป็นผู้พัฒนาโครงการหลัก เขื่อนมีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,420 เมกะวัตต์ มีแผนที่จะส่งไฟฟ้าขายให้กับประเทศไทย และการไฟฟ้าเวียดนาม และมีข่าวมาตลอดว่า บริษัทเอกชนของไทยให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนด้วย แม้ในประเทศไทย ได้มีการอ้างว่ามีการจัดเวทีปรึกษาหารือ ตามกระบวน PNPCA กรณีเขื่อนหลวงพระบางมาแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อ วันที่ 24 ธันวาคม 2562 ณ จังหวัดนครพนม ครั้งที่ 2 วันที่ 28 มกราคม 2563 ณ จังหวัดอํานาจเจริญ และครั้งที่ 3 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ณ จังหวัดเลย  และมีการจัดประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยเพื่อกำหนดท่าทีของรัฐบาลไทยต่อโครงการดังกล่าวขึ้น ในวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ขอเรียกร้องและเสนอต่อ รัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในฐานะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนอื่นๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก ดังนี้   

1 ให้รัฐบาลไทยยุติการสนับสนุนด้วยประการใดๆ  และแสดงท่าทีที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนอื่นๆบนแม่น้ำโขงสายหลัก เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ไม่มีความจำเป็นต่อความต้องการของพลังงานของประเทศไทย ดังที่ปรากฎข้อมูลบนเว็บไซต์ของ กฟผ. ที่ปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยมีมากเกินถึง 30 % อยู่แล้ว ซึ่งไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ สังคม ชุมชน ทั้งในประเทศไทย และในลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะตกต่ำจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าในขณะนี้

2 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ประเทศไทยในเวลานี้มีปริมาณไฟฟ้าสำรองเป็นปริมาณมาก  ข้อมูลจากเว็บไซต์ กฟผ. ระบุว่าล่าสุดมีกำลังผลิตในระบบ รวม 45,575 เมกะวัตต์ มีความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (13 กพ.) 27,112 เมกะวัตต์ จึงมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงมาก นอกจากนี้ กฟผ. ควรพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กร ว่าคือหน่วยงานรัฐไทยที่มีหน้าที่จัดหาไฟฟ้าต่อความต้องการของประเทศไทย ไม่ใช่เป็นการทำธุรกิจจัดหาไฟฟ้าในระดับภูมิภาค 

โดยกฟผ. ไม่ควรรับซื้อซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนใดๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก และควรบริหารจัดการพลังงาน สรรหาทางเลือกที่เหมาะสมภายในประเทศ ตามที่นโยบายของกฟผ.ที่กำลังมุ่งมั่น เพื่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศและการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาซึ่งพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง 

3 ขอย้ำอีกครั้งว่า กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA มีปัญหาและมีข้อบกพร่องอย่างมาก ทั้งเรื่องข้อมูลไม่ครบถ้วน ขาดการมีส่วนร่วม และกระบวนการตัดสินใจร่วมกันของรัฐบาลทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งสุดท้ายแล้วแต่ละประเทศต่างถืออำนาจอธิปไตยในการตัดสินใจดำเนินโครงการ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรร่วม คือ แม่น้ำโขง ที่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่สากลใช้ในการจัดการแม่น้ำระหว่างประเทศ 

จวบจนบัดนนี้ เป็นที่ปรากฎชัดแล้วว่ากระบวน PNPCA จะกลายเป็นเครื่องมือในการอ้างว่าได้รับรองที่ถูกต้องตามข้อตกลงระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้โครงการเขื่อนต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการ PNPCA ตามระยะเวลาเพียง 6 เดือน นำไปอ้างสิทธิในการที่จะพัฒนาโครงการได้ 

เครือข่ายจึงเสนอว่า ขอให้โครงการเขื่อนหลวงพระบางเป็นโครงการสุดท้ายที่เข้าสู่กระบวนการ PNPCA จนกว่าจะมีการปรับปรุงและแก้ไขข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 โดยเฉพาะกระบวนการ PNPCA เสียใหม่

4 ปัจจุบันผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน และเขื่อนไซยะบุรีในลาว ได้ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นทุกปี ต่อประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง และประชาชนประเทศท้ายน้ำ โดยยังไม่มีมาตราการแก้ไขปัญหา เยียวยา และเกิดความรับผิดชอบที่เป็นจริง 

แม้เขื่อนไซยะบุรีจะอ้างว่ามีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดผลกระทบต่อการประมงและการไหลของตะกอนดินแต่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ 

ในทางกลับกัน ผลกระทบด้านตะกอน การไหลของน้ำ การทำการประมง และต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและประชาชน ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรุนแรงไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว 

เครือข่ายขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกฟผ. เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว และหาทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลย์และยั่งยืนของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง

ท้ายที่สุดนี้ พวกเราเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ต้องยืนยันหลักการตามธรรมาธิบาลการบริหารจัดการแม่น้ำนานาชาติ และกระบวนการตัดสินใจใดๆ ต่อโครงการเขื่อนหลวงพระบางที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน 60 ล้านคนที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขงเป็นสำคัญ

More to explorer