ภูมิภาคแม่น้ำโขงต้องมีกลไกคุ้มครองประชาชนข้ามพรมแดน หลังศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้องคดีเขื่อนปากแบง ชี้พรบ.สิ่งแวดล้อมไทย ไม่คุ้มครองข้ามพรมแดน

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีเขื่อนปากแบง โดยมีตัวแทนผู้ฟ้องคดีกลุ่มรักษ์เชียงของ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด จำนวน 6 คน เข้ารับฟังคำสั่งศาลในครั้งนี้

นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความกล่าวว่าคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของจำนวน 4 ราย ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐคือ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ/สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยคำฟ้องระบุว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นจากโครงการเขื่อนปากแบงตามกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง(PNPCA)ไม่ครบถ้วนทุกจังหวัดริมแม่น้ำโขงประเทศไทย ขอให้มีคำพิพากษาว่า  (1) เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้เพิกถอนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนปากแบงในประเทศไทย และที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ MRC ทั้งสิ้น (2) ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายที่จะเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชนในผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการบนแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างพอเพียงและจริงจง การแปลเอกสารเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับโครงการทั้งหมดและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสุขภาพ สังคมทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน หรือผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่รัฐบาลลาวจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง และ/หรือก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ(3) ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบและแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน ให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอู่ในราชอาณาจักไทย (4) ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ดำเนินการทักท้วงและคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง โดยเฉพาะเขื่อนปากแบงต่อคณะกรรมการการแม่น้ำโขงและต่อสปป.ลาว และ (5) ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง ในสปป.ลาว จนกว่าจะมีการศึกษามาตรการที่มั่นใจได้ว่า โครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนไทย

แม่หญิงเก็บไกน้ำโขง เชียงของ (เครดิตภาพ Oud Mekong)

ทนายความกล่าวอีกว่าต่อมา เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องกรณีของเขื่อนปากแบง และทางกลุ่มรักษ์เชียงของก็ได้มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 และศาลได้นัดฟังคำสั่งคดีดังกล่าวในวันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564) โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีเขื่อนปากแบง โดยให้เหตุผลว่า (1) การจัดรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ PNPCA เป็นการดำเนินการตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ซึ่งพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่รัฐไทยไปลงนามเป็นภาคีไว้ จึงไม่อาจจำเอากฎหมายไทยมาบังคับใช้ และรัฐไม่ได้มีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต เพิกถอนโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่อยู่ในอธิบไตย (โครงการอยู่ในสปป.ลาว)   (2) การฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดี ออกข้อบังคับต่าง ๆ ในกรณีผลกระทบข้ามพรมแดน เช่น การออกกฎหมายการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก พรบ.สิ่งแวดล้อม ปี 2535 ไม่มีการบัญญัติเรื่องการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนไว้ และหน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดี ไม่ใช่หน่วยงานตามกฎหมายที่จะออกได้ (3)สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ที่ปฏิบัติงานในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งประเทศไทย ดำเนินนการในฐานะตัวแทนของรัฐบาล การทำความเห็นเกี่ยวกับเขื่อนปากแบง ตามที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องนั้น ถือเป็นการดำเนินการตามอำนาจบริหารของรัฐบาล ไม่ถือเป็นการกระทำทางปกครอง  ที่ศาลปกครองจะรับฟ้องได้ คำขอที่ให้สทนช.มีข้อแนะนำ หรือข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภายใน กฟผ. และหน่วยงานอื่น ให้พิจารณาการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเขื่อนปากแบง ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำทางการปกครองที่จะรับฟ้องได้ จึงถือว่าคดีถึงที่สุด

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของและผู้ฟ้องคดีที่ 2 กล่าวว่า มองเห็นว่าที่ศาลไม่รับฟ้องเนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย เงินข้ามพรมแดนไปแล้วแต่กฎหมายไม่ตามไปด้วย พรบ.สิ่งแวดล้อม พศ.2535 ไม่ครอบคลุม ความเสียหายเกิดแล้วแต่การคุ้มครองผลกระทบข้ามพรมแดนไม่มี นี่เป็นจุดสำคัญที่ต้องทำให้แม่น้ำโขงได้รับการปกป้อง เวลานี้แม่น้ำโขงเปล่าเปลือย ไร้เครื่องปกป้อง ต้องปรับและสร้างกลไกปกป้อง เราคงไม่สามารถปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปได้ วันนี้ไม่มีกฎหมาย ก็ต้องสร้างมันขึ้นมา การเงินที่เป็นธรรมก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ยังจะมีโครงการเขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนสานะคามมาอีก เราก็ต้องฟ้องอีก อย่างน้อยคือ สาธารณะได้รับรู้ร่วมกันว่าประเทศไทยมีการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และส่งผลกระทบถึงชุมชนในไทย แต่ไม่มีการปกป้องคุ้มครอง ถึงที่สุดแล้วการตัดสินใจต้องอยู่บนฐานของวิชาการ ข้อมูล

ผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัทไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมนต์ จำกัด (China Datang Oversea Investment Co.,Ltd (CDTO) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีน โครงการเขื่อนปากแบง ได้เข้าสู่กระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และครบระยะเวลา 6 เดือน วันที่ 19 มิถุนายน 2560 ขณะนั้นกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลใน 3 จังหวัด รวม 4 ครั้งคือ จังหวัดเชียงราย 2 ครั้ง จังหวัดหนองคาย 1 ครั้ง จังหวัดอุบลราชธานี 1 ครั้ง

ประเด็นที่ชาวบ้านกังวลหนักคือ ผลกระทบจากภาวะ “น้ำเท้อ” จากท้ายอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ในเขตชายแดนไทยบริเวณ อ.เวียงแก่น เชียงของ เชียงแสน และผลกระทบต่อลุ่มน้ำสาขาคือ น้ำงาว และน้ำอิง ซึ่งในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน นอกจากนี้ยังมีข้อกังลเรื่องผลกระทบสะสมจากเขื่อนจิงหง หนึ่งใน 11 เขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนของจีน ที่สร้างผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขง ส่งผลต่อระบบนิเวศ การอพยพของปลา ปริมาณตะกอน การเกษตร ประมงพื้นบ้าน รายได้ของชุมชน และตลิ่งพัง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการดังกล่าวก็ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างและยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

Download คำสั่งศาล

More to explorer