พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเขื่อนหลวงพระบาง

8 ตุลาคม 2562

แม่น้ำโขงกำลังเผชิญวิกฤต ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงสายประธานและแม่น้ำสาขา ซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของกระแสการไหลและระดับน้ำที่ไม่อาจคาดการณ์ได้มากยิ่งขึ้น จากระดับน้ำที่ลดลงเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ไปจนถึงภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรงในที่ราบเมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายน เขื่อนผลิตไฟฟ้าทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงยิ่งขึ้นต่อแม่น้ำและประชาชน เขื่อนขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่มีแผนการสร้างในแม่น้ำโขงสายประธาน เป็นสาเหตุสำคัญ ไม่ใช่คำตอบของวิกฤตในแม่น้ำโขง

แทนที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศและผลิตภาพของแม่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของประชาชนหลายล้านคน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 รัฐบาลลาวได้แจ้งอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ถึงเจตนาที่จะสร้างเขื่อนใหญ่อีกแห่งหนึ่งในแม่น้ำโขงสายประธาน  โครงการเขื่อนหลวงพระบาง จะเป็นเขื่อนที่ห้าที่เข้าสู่ขั้นตอนของระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation, and Agreement – PNPCA) 

พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong) กังวลอย่างยิ่งกับการริเริ่มการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนหลวงพระบาง ในขณะที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามข้อกังวลที่ร้ายแรงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของเขื่อนที่มีอยู่แล้ว และเขื่อนที่มีแผนการสร้างในแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งเป็นข้อกังวลที่มีการเสนอในการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับโครงการก่อนหน้านี้

เราจึงเรียกร้องให้ยกเลิกเขื่อนหลวงระบาง และเขื่อนอื่นที่มีแผนการสร้างในแม่น้ำโขงสายประธาน แทนที่จะเดินหน้าตามขั้นตอนการปรึกษาหารือล่วงหน้าที่มีข้อบกพร่องอีกครั้ง เรากระตุ้นให้รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างและ MRC แก้ไขปัญหาตามข้อกังวลเนื่องจากผลกระทบของเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานที่มีอยู่ และให้ทำการประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน โดยให้มีการศึกษาทางเลือกอื่น ๆ ด้วย

เขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน จะเปลี่ยนให้แม่น้ำโขงให้เป็นเพียงอ่างเก็บน้ำ  และสร้างผลกระทบที่รุนแรง

การเริ่มการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนหลวงพระบาง เป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งผลการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ของ MRC และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบระดับลุ่มน้ำที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้เนื่องจากเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน หากมีการสร้างเขื่อนหลวงพระบางจริง ประกอบกับเขื่อนปากแบง เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนปากลาย ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ต่อแม่น้ำโขง ซึ่งไหลตามแนวพรมแดนทางตอนเหนือของลาว ทำให้แม่น้ำกลายเป็นทะเลสาบในหลายระดับ ส่งผลให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ต่อสุขภาวะและผลิตภาพของแม่น้ำ จะทำให้เกิดการสูญเสียคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ได้จากแม่น้ำสายนี้ และจะทำให้แม่น้ำกลายเป็นเพียงคลองส่งน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ให้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่กับบริษัทไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้น

ข้อกังวลที่มีอยู่ต่อเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน เผยให้เห็นข้อบกพร่องในการปรึกษาหารือล่วงหน้า

ผลการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับสี่เขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน ได้แก่ เขื่อนไซยะบุรี (2553-2554) เขื่อนดอนสะโฮง (2557-2558) เขื่อนปากแบง (2559-2560) และเขื่อนปากลาย (2561-2562) จนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ไขตามข้อกังวลเนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ และยังมีข้อเสนอให้ทำการศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติม สืบเนื่องจากข้อบกพร่องร้ายแรงของการปรึกษาหารือล่วงหน้าจนถึงปัจจุบัน หากไม่มีการปฏิรูปกระบวนการนี้อย่างจริงจัง ย่อมแทบไม่มีโอกาสที่การปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนหลวงพระบางจะแตกต่างจากกระบวนการที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งย่อมไม่สามารถประกันให้เกิดความโปร่งใสและความรับผิดตามมาตรฐานขั้นต่ำได้ ยังไม่ต้องพูดถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป

เวียดนามต้องทบทวนการมีส่วนร่วมกับเขื่อนหลวงพระบาง

พีวีพาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปิโตรเวียดนาม (PVN) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทซึ่งทำหน้าที่หลักในการพัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบาง การที่บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเวียดนามเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ไม่สอดคล้องกับการที่รัฐบาลเวียดนามเคยแสดงข้อกังวลหลายครั้ง ระหว่างที่มีการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานจนถึงปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ในระหว่างการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนไซยะบุรี รัฐบาลเวียดนามอ้างว่ามีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และเรียกร้องให้ชะลอการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนอื่น ๆ ที่มีการวางแผนสร้างในแม่น้ำโขงสายประธาน “ออกไปเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี”  เมื่อเร็ว ๆ นี้ เวียดนามยังเรียกร้องให้สนับสนุนการสำรวจแหล่งพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง เพื่อทดแทนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขง ซึ่งย่อมช่วยให้เกิด “การคุ้มครองและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขง รวมทั้งป้องกันผลกระทบด้านลบต่อการดำรงชีพของประชาชน”

นอกจากนั้น พีวีพาวเวอร์ยังมีประวัติการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่เลวร้ายในลาว โดยแม้จะมีการสร้างจนเสร็จแล้ว แต่เขื่อนเซกะหมาน 1 และ 3 ในลาวตอนใต้ยังไม่สามารถเดินเครื่องได้เป็นปรกติ ทั้งยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนต่าง ๆ

เนื่องจากเขื่อนหลวงพระบางจะยิ่งเพิ่มผลกระทบต่อแม่น้ำโขงและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ รัฐบาลเวียดนามจึงต้องทบทวนการมีส่วนร่วมในโครงการนี้

เขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานไม่มีความจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของภูมิภาค

จากผลการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการประเมินแผนการพัฒนาที่เป็นอยู่และในอนาคต ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โครงการสร้างเขื่อนหลายแห่งในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ก่อให้เกิดภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของระบบนิเวศ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค ในส่วนของเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน การศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขงพบว่า การพัฒนาความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานส่งผลกระทบ “ซึ่งมีลักษณะรุนแรงและกว้างขวาง มากกว่าโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำใด ๆ ที่มีอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง”

ข้อเสนอแนะสำคัญอย่างหนึ่งจากการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง คือการให้รัฐบาลประเทศสมาชิกพิจารณาใช้ทางเลือกพลังงานหมุนเวียนนอกเหนือจากเขื่อนขนาดใหญ่อย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จะพิจารณาข้อเสนอแนะเหล่านี้ หรือนำข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน

เขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน ไม่มีความจำเป็นต่อการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในภูมิภาค จากสรุปรายงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงปี 2561 พบว่า ภายในปี 2583 ลาวมีแผนส่งออกไฟฟ้า 11,739 เมกะวัตต์ ไปยังประเทศไทย ส่วนแผนพลังงานของไทยระบุว่าจะนำเข้าไฟฟ้าเพียง 4,274 เมกะวัตต์  ความแตกต่างของตัวเลขเกือบ 7,500 เมกะวัตต์ ถือว่ามากกว่ากำลังผลิตติดตั้งรวมกันของเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานทั้งเจ็ดเขื่อน ทั้งที่อยู่ในแผนและอยู่ระหว่างการก่อสร้างในลาว

ยังคงมีทางเลือกและแนวทางการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนและเท่าเทียมอื่น ๆ อยู่ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานการเคารพชุมชนและสามารถตอบสนองความต้องการด้านน้ำและพลังงานของภูมิภาคได้ เรายังมีศักยภาพมากมายจากประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พลังงานน้ำในภูมิภาค การประเมินทางเลือกอย่างรอบด้านย่อมช่วยให้เราสามารถจำแนกทางเลือกและแนวทางการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนและเท่าเทียมอื่น ๆ ของภูมิภาคได้ โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนที่มีการทำลายระบบแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตของประชาชนหลายล้านคน

More to explorer