แถลงการณ์จากการประชุมเจรจากับบริษัทต้าถังกรณีโครงการเขื่อนปากแบง

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

17 มกราคม 2561

จากการประชุมเจรจาหารือระหว่างผู้แทนบริษัทต้าถัง(ลาว) เขื่อนไฟฟ้าปากแบ่ง จำกัด และตัวแทนภาคประชาชนริมแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมานั้น พวกเราได้แสดงจุดยืนชัดเจนในการปกป้องแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของประชาชนในลุ่มน้ำ เราเรียกแม่น้ำสายนี้ว่าแม่น้ำของ และแม่น้ำโขง  คำว่าแม่ในภาษาไทย ลาว เขมร แปลว่าเป็นผู้ให้กำเนิดของพวกเรา เป็นแม่น้ำของพวกเราทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเชียงของ ปากแบง หรือของประเทศไทย หรือประเทศใด เพราะแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรข้ามพรมแดน ในการเจรจาและตัดสินใจใดๆ เราต้องเคารพถึงความคิดของแต่ละฝ่าย ทั้งพี่น้องชาวบ้านที่อาศัยเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิต ต้องคำนึงถึงทุกคนให้มีส่วนร่วม Inclusive Development และต้องเป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงองค์ความรู้ Knowledge-based Development  เป็นฐานในการพัฒนาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในการประชุมดังกล่าว เราได้รับการติดต่อมาว่าจะเป็นการประชุมร่วมกับบริษัทจากจีน แต่ก็พบว่ามีตัวแทนของรัฐบาลลาว นำคณะเข้าร่วมด้วย คือ ดร.จันแสวง บุนนอง อธิบดีกรมนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สปป.ลาว และผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษา Norconsult ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบง

จากการประชุมครั้งนี้ พวกเรายืนยันว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขงทั้งลุ่มน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทางตอนบนในจีน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนการพัฒนา สร้างการคิดใหม่ และหาทางเลือกพลังงานให้แก่ภูมิภาคโดยไม่ทำลายทรัพยากรของคนรุ่นต่อไป

เราไม่สามารถมาพูดคุยกันทีละเขื่อน แต่ต้องมองเขื่อนชุดทั้งหมด 11 โครงการในแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้งโครงการเขื่อนปากแบง โครงการเขื่อนสานะคาม เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนอื่นๆ ที่จะสร้างบนแม่น้ำโขงที่เป็นแม่น้ำของเรา

เราต้องคิดถึงการมีธรรมาภิบาลในการจัดการแม่น้ำโขงอย่างเป็นธรรม Transboundary governance การใช้แม่น้ำด้วยความยั่งยืน มีความยุติธรรมถึงภาคส่วนต่างๆ ประชาชนที่อยู่ด้านล่าง จะได้รับประโยช์อย่างไร

การเจรจาครั้งนี้เป็นเพียงครั้งแรก และไม่ใช่การยินยอมใดๆ เราเห็นว่าจำเป็นต้องเอาความรู้ การเก็บข้อมูล วิจัย นำมาประกอบการตัดสินใจ  เราต้องมีความรู้เพื่อการตัดสินใจในทรัพยากรของภูมิภาค สำหรับกรณีของเขื่อนปากแบงนั้นเราพบว่าการศึกษาที่ใช้อ้างอิง เป็นข้อมูลเก่าที่บางชิ้นเก่ากว่า15 ปี จึงไม่เพียงพอที่จะตัดสินใจดำเนินโครงการ 

หากเราช่วยกันในหลายฝ่าย เอาความรู้เป็นผู้นำ จัดประชุมเจรจากันต่อๆ ไป เพื่อสร้างองค์ความรู้แม่น้ำโขง เรายินดีที่จะต้อนรับทุกท่าน มาร่วมมือกัน เพื่อที่จะรักษาแม่น้ำโขงชั่วลูกหลานต่อไป

More to explorer